รีเซต

ผู้ป่วยปลื้ม 'คลินิกกัญชา' หมอดี-รักษาฟรี ชาวบ้านมีความหวัง แนะจัดอีกในกรุงเทพฯ

ผู้ป่วยปลื้ม 'คลินิกกัญชา' หมอดี-รักษาฟรี ชาวบ้านมีความหวัง แนะจัดอีกในกรุงเทพฯ
มติชน
7 มีนาคม 2564 ( 13:32 )
69

ผู้ป่วยปลื้ม ‘คลินิกกัญชา’ หมอดี-รักษาฟรี ชาวบ้านมีความหวัง แนะจัดอีกในกรุงเทพฯ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ในงาน “มหกรรมกัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” พท.ป.สุชาดา ทรงผาสุก แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ โรงพยาบาล (รพ.) แพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวถึงการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภายในงานมหกรรมกัญชาฯ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค. ว่า หน่วยบริการคลินิกกัญชาฯ จาก รพ.แพทย์แผนไทย มาเปิดหน่วยบริการพิเศษสำหรับงานนี้ฟรี เพื่อประชาชน โดยนำยาที่มีส่วนผสมจากกัญชา ประกอบด้วย ยาแผนไทย 7 จาก 16 ตำรับยากัญชา น้ำมันจากกัญชา สูตรอาจารย์เดชาและสูตรของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มาจ่ายให้กับคนไข้

ทั้งนี้ เกณฑ์การเข้ารับบริการในคลินิกกัญชาฯ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี อาการบ่งชี้ 5 อาการ ประกอบด้วย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดไมเกรน พาร์กินสัน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น มะเร็ง แต่ก็จะมีข้อจำกัดในการใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ที่มีความดันสูงผิดปกติ

“วิธีการใช้ยากัญชาจะไม่มีโดสตายตัว ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย อาการของโรค ประสบการณ์ใช้ยา อายุและอื่นๆ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อการจ่ายยาในปริมาณที่เหมาะสม แต่สำหรับน้ำมันกัญชา วิธีใช้คือการรับประทานเข้าทางปาก และเพื่อการควบคุมปริมาณหยดน้ำมัน ก็จะให้ผู้ป่วยหยดใส่ช้อน ไม่แนะนำให้หยดใต้ลิ้น” พท.ป.สุชาดากล่าว

พท.ป.สุชาดากล่าวต่อว่า ด้วยกัญชามีฤทธิ์ในการผ่อนคลาย ดังนั้น ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ หลังใช้ยาก็จะหลับง่ายขึ้น ไม่ตื่นระหว่างคืน ตื่นเช้ามาก็จะไม่อ่อนเพลียเพราะนอนหลับได้ลึก ส่วนการใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง กัญชาไม่ใช่ยาหลักในการรักษาตัวโรคมะเร็ง แต่เป็นส่วนเสริมในการทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย รับประทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น เพื่อประคับประคองอาการจากโรค เป็นการทำให้ผู้ป่วยมีการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นจากการรักษาโรค อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มาใช้บริการส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะเป็นผู้สูงอายุ มาด้วยอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นไปตามช่วงวัย และส่วนร้อยละ 20 เป็นกลุ่มวัยทำงาน ที่มีอาการเครียดจากงาน ความกังวล ที่ทำให้หลับไม่สนิท

พท.ป.สุชาดากล่าวว่า ตนมีความเห็นว่าการเปิดคลินิกกัญชาฯ ที่ถูกต้อง จ่่ายยาที่มีคุณภาพ มีแพทย์ให้คำปรึกษา วินิจฉัยอาการ ให้ความรู้ แนะนำการใช้ยาก่อนจ่ายยาให้ผู้ป่วย ดีกว่าการที่ผู้ป่วยหาซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนรับยาได้ไม่เท่ากันและเพื่อการใช้ยาที่ถูกต้อง

“ภาพรวมในการเปิดหน่วยบริการคลินิกกัญชาในงาน มีประชาชนให้ความสนใจอย่างคับคั่ง โดยยอดลงทะเบียนรวมกว่า 1,600 คน หน่วยฯ จ่ายยาตำรับกัญชาให้ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับยาได้ เช่น ผู้ที่มีโรคหัวใจ ทั้งนี้ แพทย์ประจำหน่วยฯ สั่งจ่ายน้ำมันกัญชาไปแล้วมากกว่า 500 ขวด” พท.ป.สุชาดากล่าว

ด้าน นางวันดี ฝักเจริญผล อายุ 67 ปี เปิดเผยว่า ตนเดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร เพราะทราบข่าวจากโซเซียล จึงชวนลูกที่เป็นแพทย์มาด้วย ตอนแรกจะไปดูแปลงปลูก ที่วิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน แต่ก็ยังไม่ได้แวะไป วันนี้เข้าร่วมมหกรรมกัญชาฯ เป็นวันที่สอง การจัดงานมีความสะดวก มีที่จอดรถเยอะ โดยวันแรกที่มาก็เดินเยี่ยมชมนิทรรศการความรู้ต่างๆ ลองชิมอาหาร ชาจากกัญชา ส่วนวันนี้ก็มาเพื่อเข้ารับการปรึกษาในคลินิกกัญชาฯ เพราะเมื่อเริ่มเข้าอายุ 67 ปี ก็เริ่มมีอาการนอนไม่ค่อยหลับ ตื่นระหว่างคืน เช่น นอน 4 ทุ่มก็จะตื่นช่วงเที่ยงคืน ลุกมาปัสสาวะ แต่กว่าจะหลับได้อีกครั้งใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง และเมื่อหลับไม่สนิท ตื่นเช้าก็จะไม่สดชื่น

“เมื่อตอนเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัด ครั้งนานมาแล้ว แต่ละบ้านก็ปลูกไว้ 2-3 ต้น เคยลองเอาใบกัญชาสดมาต้มกับน้ำกิน ก็ทำให้นอนหลับได้ แล้วก็เอาไปใส่ก๋วยเตี๋ยว ก็ทำให้รสชาติดีขึ้น น้ำซุปกลิ่นหอม ไม่มีอันตรายหรือเป็นการเสพติดอะไร ส่วนตัวคิดว่าการนำมาใช้เพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็นำยากัญชามาทำให้นอนหลับ รับประทานอาหารได้มากขึ้น เป็นของดีของคนไทย”

นางวันดีกล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะคนที่มางานก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่าควรใช้กัญชาอย่างไรให้ถูกต้อง มีข้อระวังอย่างไร ขณะที่ตลาดมีความต้องการใช้มากขึ้น ภายในงานก็มีความรู้ให้ประชาชน ในการปลูก ก็อยากให้มีการจัดงานอีกกระจายไปทั่วประเทศ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะจัดที่อิมแพค เมืองทองธานีด้วย เพื่อให้คนจากหลายๆ จังหวัดเดินทางมาร่วมงาน

น.ส.จรัญญา คัชมาตย์ อายุ 75 ปี เดินมาจาก จังหวัดพิจิตร เพื่อร่วมมหกรรมตลอดทั้ง 3 วัน โดยเดินทางมาพร้อมครอบครัว เพื่อหาความรู้เกี่ยวกับกัญชากัญชง เพราะอยากรู้วิธีการปลูกใช้เองด้วย ส่วนตัวป่วยเป็นโรคอัมพฤต ตอนแรกได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล วันนี้มารับยาที่นี่ฟรี เพราะเคยใช้กัญชามาแล้วบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นโรคความดัน เส้นเลือดตีบ เพราะมีไขมันสูง เคยทานยากัญชา ทั้ง แบบเม็ด และแบบน้ำมันกัญชาหยดด้วย เมื่อใช้ทั้ง 2 อย่าง อาการก็ดีขึ้น

“วันนี้ครอบครัวพามารับยา หมอจ่ายยามาให้ฟรี ป้าป่วยมา 11 ปีแล้ว แต่พอยังเดินได้ ขาข้างซ้ายไม่ค่อยมีแรงอย่างเดียว แต่ก็พอดูแลตัวเองได้ พอได้รับยา จากที่เป็นโรคความดันมาก่อน อาการก็ดีขึ้น ปกติใช้หยดใส่ปากใต้ลิ้น ใช้เพียงแค่หยดเดียว

คลินิกที่นี่คุณหมอรักษาดี โรคที่เคยเป็นบรรเทาขึ้น และฟรีด้วย ไม่ต้องเสียค่ายา ตอนไปรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย ขอบคุณภาครัฐที่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นมา เป็นอะไรที่ดีมากๆ อยากให้มีงานแบบนี้เรื่อยๆ” น.ส.จรัญญากล่าว

ด้าน นายสงวน เดชสง อายุ 59 ปี ชาวอำเภอเมือง จ.บุรีรัมย์ ป่วยเป็นโรคอัมพฤต อัมพาต กล่าวว่า ตอนนี้กำลังรอคิวเข้าไปรับการรักษา ทีมงานจัดให้มานั่งช่องที่ 30 เพราะเป็นผู้ป่วยที่นั่งรถเข็น ซึ่งมีพยาบาลมาดูแลพิเศษ

“ลุงป่วยมาเป็น 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่เคยใช้กัญชาในการรักษาโรคมาก่อน การที่ภาครัฐร่วมมือกันจัดงานมหกรรมครั้งนี้และให้ประชาชนสามารถเข้ารักษาที่คลินิกกัญชาได้ฟรี เป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งทางโรงพยาบาลก็บอกด้วยว่า รักษาคนป่วยด้วยกัญชาหายไปหลายรายแล้ว ปกติต้องเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาล เสียเวลานาน วันนี้มาที่สนามช้างฯ รักษาเร็วกว่า เพราะบ้านอยู่ใกล้ๆ”

“ส่วนตัวไม่รู้รายละเอียดว่าคุณหมอจะรักษาแบบไหนเพราะเพิ่งมารักษาวันแรก แต่ถือเป็นสิ่งที่ดีทำให้คนไทยมีโอกาส และคนมาเข้ารับการรักษาเยอะมาก หลาย 100 คนแล้ว” นายสงวนกล่าว และว่า

คนอื่นๆ แถวบ้าน ก็มารักษา 2-3 ครั้งแล้ว เขามารับยารักษา เป็นยาหลอดหยดใต้ลิ้น และยากัญชาเป็นเม็ด แต่ตัวเองยังไม่เคยมารักษาด้วยการใช้กัญชา เห็นเขาบอกว่าดี ก็เลยมา

“การกัญชารักษา ดีกว่าการรักษาด้วยยาเคมี เพราะกินแล้วรู้สึกทรมาน และกลัวว่าเคมีจะสะสม ส่งผลในระยะยาว”

เมื่อสอบถามว่า ผู้สูงอายุ ใน จ.บุรีรัมย์ มีมุมมองต่อการใช้กัญชาและกัญชงอย่างไรบ้าง

นายสงวนเปิดเผยว่า เขารู้สึกมีความหวัง รู้สึกดีใจมาก กัญชานี้ ปกติปลูกกันทั่วทุกตำบล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง