รีเซต

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโปลีเทคนิคแห่งปอร์โต (IPP) ของโปรตุเกส กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดรับประทานในรูปแบบของเหลว

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโปลีเทคนิคแห่งปอร์โต (IPP) ของโปรตุเกส กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดรับประทานในรูปแบบของเหลว
TNN World
23 พฤศจิกายน 2564 ( 18:10 )
82
คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโปลีเทคนิคแห่งปอร์โต (IPP) ของโปรตุเกส กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดรับประทานในรูปแบบของเหลว
Portugal: สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโปลีเทคนิคแห่งปอร์โต (IPP) ของโปรตุเกส กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดรับประทานในรูปแบบของเหลว อย่างเช่น โยเกิร์ตหรือน้ำผลไม้
 
รูเบน เฟอร์นานเดส ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวทำมาจากพืชและโปรไบโอติกที่มีจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
 
โดยปกติแล้วโปรไบโอติก เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ทว่าในกรณีของวัคซีนชนิดนี้ โปรไบโอติกถูกกระตุ้นให้ผลิตสารชนิดใหม่ ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19
 
เฟอร์นานเดส ยังระบุว่า เทคโนโลยีข้างต้นไม่ได้มาแทนที่เทคโนโลยีปัจจุบัน เพราะความตั้งใจของทีม คือ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้วัคซีนที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
พร้อมเสริมว่า แนวคิดการใช้งานวัคซีนในอาหารเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น การใช้วัคซีนในมันฝรั่งเพื่อต่อต้านโรคติดเชื้อ อาทิ บาดทะยัก, คอตีบ, โนโรไวรัส และตับอักเสบบี
 
นอกจากมันฝรั่งแล้ว ยังมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในข้าวและกล้วย รวมถึงวัคซีนชนิดรับประทาน สำหรับป้องกันโรคซาร์ส (ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ก็ถูกนำมาจับคู่กับมะเขือเทศด้วยเช่นกัน
 
เฟอร์นันเดส กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ คณะนักวิจัยทดสอบแนวคิดข้างต้นกับพืชและโปรไบโอติกที่มีแบคทีเรียบางชนิด และได้ข้อสรุปว่า เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ได้ผลจริง
 
ขั้นตอนต่อไป คือ การเลือกพืชผลที่จะนำมาดัดแปลง นอกเหนือจากการเลือกโปรไบโอติก (แบคทีเรีย) ที่ดีที่สุดในหลอดทดลอง จากนั้นจึงจะนำไปทดสอบกับสัตว์ต่อไป
 
นักวิจัย คาดว่า วัคซีนชนิดรับประทานได้จะแพร่หลายเป็นวงกว้างในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่จะได้รับจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยเป้าหมายของพวกเขา คือการผลิตวัคซีนที่สามารถจำหน่ายแก่ประชาชนในรูปแบบที่ยั่งยืนและมีราคาถูก
เฟอร์นันเดส เสริมว่า การทำให้รูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ง่ายต่อการเข้าใจและใช้งาน มีข้อดีทั้งทางจริยธรรม เศรษฐกิจ และการรักษา โดยวัคซีนดังกล่าว มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามาก ซึ่งจะทำให้ประเทศยากจนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม เฟอร์นันเดสกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หลายคนอาจยังหวาดกลัววัคซีนแบบฉีดทั่วไป แต่เขาเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวจะชอบดื่มโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติกสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง