รีเซต

‘วีระศักดิ์’ แนะแบงก์ปล่อยสินเชื่อแบบยกเว้นผ่อนเงินต้น-ดอกเบี้ย 3 ปีแรก ลดผลกระทบโควิด-19

‘วีระศักดิ์’ แนะแบงก์ปล่อยสินเชื่อแบบยกเว้นผ่อนเงินต้น-ดอกเบี้ย 3 ปีแรก ลดผลกระทบโควิด-19
มติชน
28 สิงหาคม 2563 ( 10:58 )
75
1

‘วีระศักดิ์’ แนะแบงก์ปล่อยสินเชื่อแบบยกเว้นผ่อนเงินต้น-ดอกเบี้ย 3 ปีแรก ลดผลกระทบโควิด-19

 

ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่น อาคารคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรม รามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยวิถีใหม่ (New Normal) : โอกาสและความท้าทาย” โดยคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา

 

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เชื่อว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ยังมีอนาคต และสามารถใช้เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยภาคการท่องเที่ยวไทยคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 4 ล้านคน หรือหากประเมินไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาจมีการจ้างงานกว่า ช8 ล้านคน

 

ซึ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 คาดว่าจะยังอยู่จนถึงปี 2564 จากตอนแรกที่ประเมินไว้ว่าจะอยู่จนถึงปลายปี 2563 เพราะต้องรอให้ค้นพบวัคซีนต้านไวรัสที่สามารถใช้รักษาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน ที่แม้จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดผ่านเครื่องบินบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีมากเท่าเดิม การช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงต่อจากนี้ ข้อเสนอคือ แทนที่จะให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำ หรือการพักชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่นั้น สามารถเปลี่ยนเป็นการให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยปกติ แต่พักชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นก่อนในช่วง 3 ปีแรก เพราะหากการเดินทางยังไม่กลับมาเป็นปกติ ผู้ประกอบการก็ยังไม่มีรายได้ แม้จะมีมากขึ้นแต่ยังไม่เท่าเดิม ความสามารถในการชำระเงินกู้ก็ไม่มี

 

“ตลาดไทยเที่ยวไทย แม้จะมีการออกเดินทางมากขึ้น ก็เกิดขึ้นเฉพาะการเที่ยวในระยะใกล้ๆ เดินทาง 1-3 ชั่วโมง และเป็นการเดินทางในช่วงวันหยุดเท่านั้น ส่วนวันธรรมดายังนิ่งเหมือนเดิม โดยการเดินทางในขณะนี้ มองว่าเกิดขึ้นจากความเครียดที่มีการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา และการไม่อนุญาตให้เดินทาง พอเปิดให้เดินทางก็มีการเดินทางกันมากขึ้น แต่ก็ยังกระจุกอยู่ในพื้นที่รอบเมือง เพราะคนที่เดินทางในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง เมื่อรายได้ไม่มีเท่าเดิม ความสามารถในการชำระเงินกู้น้อยลง การช่วยเหลือด้านอัตราดอกเบี้ย จึงมองว่าสามารถเปลี่ยนได้หรือไม่ เป็นยังไม่ต้องจ่าย 3 ปีแรก เพราะการช่วยเหลือขณะนี้ เหมือนช่วงที่เราหิวมากๆ ได้กินขนมจีบ 1 ลูกคลายหิว ซึ่งรู้ว่ารสชาติอร่อย แต่ไม่อิ่ม ต้องหาทางทำให้ท้องอิ่ม อาทิ การหาน้ำดื่มให้ได้ทุก 6 ชั่วโมง เพื่อให้อยู่รอด ทางออกจึงเป็นเงินกู้ในระบบ แบบไม่ยังไม่ต้องผ่อนคืน แต่มีเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้เมื่อครบกำหนดที่ต้องจ่ายเงินคืนแล้ว ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถจ่ายคืนได้” นายวีระศักดิ์ กล่าว

 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ธุรกิจที่มีสินทรัพย์ ควรต้องนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ส่วนกลุ่ใที่ไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน อาทิ บริษัทนำเที่ยว ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง มีเพียงพนักงานเท่านั้น จะต้องตั้งเงื่อนไขร่วมกัน อาทิ ใน 1 เดือน บริษัทจะต้องนำพนักงานไปอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ และเสริมความรู้เดิม หรืออาจทำการศึกษาเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาความยากจน และช่วยพัฒนาชุมชน แม้จะยังไม่มีลูกค้าเข้าไปใช้บริการ แต่ต้องทำการศึกษาเส้นทางใหม่เพิ่มเติม แล้วทำการส่งข้อมูลของเส้นทางเหล่านั้นกลับมา เป็นการส่งการบ้าน แทนการส่งดอกเบี้ย ในช่วงต่อจากนี้ เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง รูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป การปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยนและพัฒนาตามให้ทัน โดยใช้โอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ตามทันการท่องเที่ยววิถีใหม่ (นิวนอร์มอล)

 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่าในภาวะวิกฤตแบบนี้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือ การตกงาน ทำให้หากจะขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้กลายเป็นการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยเฉพาะการรองรับการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ ซึ่งไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การท่องเที่ยวจึงต้องปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีเงินเก็บ และมีความสามารถในการใช้จ่ายสูง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ที่จอดรถ ห้องน้ำของผู้พิการ จะต้องปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่มีไว้แต่ใช้งานไม่ได้ ซึ่งก็สามารถจ้างคนในท้องถิ่น เพื่อซ่อมสร้างสิ่งเหล่านี้ใหม่ ให้ใช้งานได้ตามปกติ หากทำแบบนี้จะเป็นการจ้างงานคนในชุมชนของภาคการท่องเที่ยวได้ รวมถึงปัญหาทางเท้าไทย ที่ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งหากสามารถปรับปรุงทางเท้าให้ดีขึ้น ผ่านการจ้างงานคนในท้องถิ่นได้ หรือบริษัทเล็กๆ แทนการจ้างบริษัทใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ก็จะช่วยกระจายรายได้เพิ่มขึ้นได้ ที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด-19 เราพูดถึงการกระตุ้นเที่ยวเมืองรอง แต่พอโควิด-19 เข้ามา จะต้องพูดถึงการฟื้นเที่ยวเมืองหลักก่อน เพราะพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า โดยจะต้องกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น และการจัดประชุมสัมมนา ทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้เกิดการปลดพนักงาน ลดจำนวนคน และหยุดการนำเข้าซัพพลายเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบเครื่องบิน ทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เครื่องบิน ก็ต้องลดต้นทุนผ่านการลดจำนวนพนักงานลง ทำให้ห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการระบาดโควิด-19 ทำให้คำพูดที่ว่า อาชีพนักบินไม่มีวันตกงานไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้ได้เห็นแล้วว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แทบทุกอาชีพตกงานหมด เมื่อเห็นแล้วว่าอาชีพที่มีความมั่นคง และมีขนาดใหญ่ยังไปได้ยากท่ามกลางวิกฤตในปัจจุบัน แล้วหากมองไปยังธุรกิจขนาดเล็กที่มีจำนวนมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยประเทศไทยพึ่งพาสัดส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพี สร้างรายได้ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวกว่า 49 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่กลับได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวน้อยมาก เพราะสหรัฐไม่ได้พึ่งพารายได้หลักมาจากภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เหมือนกับประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง