117 รพ.สต.แต่งชุดดำตะโกน ขอโอนไปสังกัดอบจ. วอนผู้มีอำนาจอย่ารั้งไว้ ขอให้ทบทวนมติ ครม.
117 รพ.สต.แต่งชุดดำตะโกน ขอโอนไปสังกัด อบจ.วอนผู้มีอำนาจอย่ารั้งไว้ ยื่นหนังสือถึงลุงตู่ ขอให้ทบทวนมติ ครม.วันที่ 15 มี.ค. 65 ที่ให้โอนไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษเพียง 13 รพ.สต.เท่านั้น หากอนุมัติให้โอนได้จะต้องอนุมัติให้โอนไปทั้ง 117 รพ.สต.
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ หลังเก่า อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีสมาชิกของชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ (รพ.สต.) จำนวนประมาณ 100 คน นำโดย นายเกียรติคุณ ทวี ผอ.สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีภูมิซรอล ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ พากันแต่งกายด้วยชุดดำพร้อมทั้งชูป้ายมีข้อความว่า รพ.สต.ศรีสะเกษ พร้อมถ่ายโอน (ใครสมัครใจถ่ายโอนต้องได้ถ่ายโอน)ใครขวางต้องมี ม.157 (เราไม่อยากฟ้องด้วยความเคารพ), รพ.สต.ศรีสะเกษ
สนับสนุนการถ่ายโอนไป อบจ.ยุติการดึงรั้ง สธ.โปรดอย่าลับ ลวง พราง, ปัญหาสุขภาพในท้องถิ่นต้องให้ท้องถิ่นแก้ไข, รพ.สต.โอนไป อบจ.ก็ทำงานดูแลพี่น้องประชาชนได้เหมือนกันได้โปรดปล่อยเราไป พร้อมทั้งพากันตะโกนเสียงดังก้องทั่วบริเวณศาลากลาง จ.ศรีสะเกษว่า เราจะไป อบจ. เราจะไป อบจ. เราจะไป อบจ. เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมย์ในการมาชุมนุมครั้งนี้
นายเกียรติคุณ ทวี ผอ.สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีภูมิซรอล ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การมาชุมนุมในครั้งนี้ เนื่องจากว่า ได้มีกฎหมายให้พวกเราถ่ายโอน ตามกฏหมาย พ.ร.บ. กระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2542 แต่การถ่ายโอนก็ไม่ประสบผลสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ มี รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปเพียง 84 แห่งทั้งประเทศ ต่อมาช่วงหลังก็มีการถ่ายโอนไปอยู่ อบจ .ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ก็มีพวกเราถ่ายโอนทั้งประเทศ 3,000 กว่าแห่งซึ่งเป็น รพ.สต.ที่สมัครใจและศรีสะเกษของเรามีสมัครใจถ่ายโอนไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ จำนวน 117 แห่ง
แต่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 เพียง 13 แห่งเท่านั้นซึ่งเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการถ่ายโอน พวกเราจึงได้พากันมาชุมนุมกันในครั้งนี้ และได้ยื่นหนังสือไปถึง นายกรัฐมนตรี ผ่าน ผวจ.ศรีสะเกษ เพื่อต้องการเรียกร้องไปถึงรัฐบาล เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติการเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 และขอให้พิจารณาให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และ รพ.สต.จำนวน 117 แห่ง บุคลากรสมัครใจถ่ายโอน จำนวน 786 คน ที่ อบจ.ศรีสะเกษ ขอรับถ่ายโอน ได้ถ่ายโอนให้ทันภายในปีงบประมาณ 2566
โดยไม่ให้มีส่วนราชการใดประวิงเวลาให้ชักช้า และขอให้พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนทั่วไปแก่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.ตามที่กำหนดการจัดสรรงบประมาณไว้ในคู่มือหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอน ภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ.วันที่ 5 ต.ค.2564 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ตามขนาดหน่วยบริการ โดยขนาดเล็ก สนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี ขนาดกลาง ให้สนับสนุนงบประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี ขนาดใหญ่ ให้สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี
ต่อมา นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ลงมาพบกับกลุ่มชมรม รพ.สต.จ.ศรีสะเกษ พร้อมทั้งได้รับหนังสือ ที่ ช.รพ.สต.ศก.1/2565 ลว.21 มี.ค.2565 เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติการเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 วันที่ 15 มี.ค.2565 โดยหนังสือฉบับดังกล่าว กราบเรียน นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ผ่าน ผวจ.ศรีสะเกษ โดยมีการแนบรายชื่อสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.จ.ศรีสะเกษ ที่สมัครใจขอถ่ายโอน ซึ่งนายสำรวย กล่าวว่า ตนมารับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มชมรม รพ.สต.จ.ศรีสะเกษ เพื่อจะได้นำเอาไปเสนอ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้รับทราบ จากนั้น จะได้ส่งเรื่องไปให้หน่วยเหนือเพื่อโปรดพิจารณาต่อไป
หลังจากนั้น กลุ่มชมรม รพ.สต.จ.ศรีสะเกษ ได้พากันเดินทางไปที่ อบจ.ศรีสะเกษ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โดยได้ไปพบกับ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ และคณะ โดยได้มีการชูป้ายเพื่อแสดงเจตนารมย์ข้อเรียกร้องขอถ่ายโอนมาสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ ซึ่งนายวิชิต ได้พบปะกับกลุ่มที่มาพบอย่างเป็นกันเองฉันท์ญาติมิตร พร้อมทั้งรับฟังข้อเรียกร้องที่นายเกียรติคุณ ทวี ประธานชมรม รพ.สต.จ.ศรีสะเกษ ได้แจ้งให้ทราบ
นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้เราก็ได้มีการเตรียมการมานานพอสมควรแล้วซึ่งกฎหมายก็ได้ให้ทาง อบจ.ศรีสะเกษถือปฏิบัติตามอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีกฎหมายการเตรียมการก็ย่อมที่จะต้องเกิดขึ้นและตนมองว่าด้านสุขภาพจริงๆแล้วก็เป็นคนในท้องถิ่นของเรา เมื่อท้องถิ่นของเราต้องการที่จะเข้าไปดูแลเองมันก็คงไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไรและก็เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีกว่าด้วย
แต่ว่าเราไม่มีอำนาจตรงนั้นที่จะบอกว่าคุณต้องมาหรือไม่มาอย่างไรแต่ขั้นตอนต่างๆ อบจ.ศรีสะเกษผ่านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคณะกรรมการกระจายอำนาจได้มาประเมินผลการประเมินก็ทราบว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยม ซึ่งในระดับดีเยี่ยมนี้ก็สามารถที่จะรับการถ่ายโอน รพ.ส.ต.ได้ทั้งจังหวัด แต่ว่าตนคงไม่เอาจนถึงขนาดนั้น เอาเฉพาะที่เขาสมัครใจที่จะมา หากไม่มาก็ไม่เป็นไร หากเขาจะมาเราก็ยินดีที่จะรับ