รีเซต

รายงานพิเศษ : มหา'ลัย ลุย ‘เรียน-สอบ’ ออนไลน์ พลิกวิกฤตโควิด สู่ 'เทรนด์ใหม่ของโลก'

รายงานพิเศษ : มหา'ลัย ลุย ‘เรียน-สอบ’ ออนไลน์ พลิกวิกฤตโควิด สู่ 'เทรนด์ใหม่ของโลก'
มติชน
20 เมษายน 2563 ( 12:44 )
252
รายงานพิเศษ : มหา'ลัย ลุย ‘เรียน-สอบ’ ออนไลน์ พลิกวิกฤตโควิด สู่ 'เทรนด์ใหม่ของโลก'
 

ต้องปรับตัวเร็วกว่าที่คิด สำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องมาจัดการเรียนการสอนออนไลน์ จากเดิมที่เตรียมพร้อมค่อย ๆ ขยับและปรับตามสถานการณ์โลกอนาคต ซึ่งเทรนด์การเรียนยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าห้องเรียน ก็เรียนได้ต่อเนื่อง นิสิต นักศึกษา สามารถเรียนวิชาการ พูดคุย ดีเบต กับอาจารย์ผู้สอนได้ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มหลายช่องทาง…

 

แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว และดูเหมือนว่าจะไม่คลี่คลายไปง่าย ๆ รัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ให้บุคลากร Work from Home หรือทำงานที่บ้าน ภายใต้การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ”

 

กระทั่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จากเดิมที่จะเปิดเทอมช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และเตรียมพร้อมให้เด็กเรียนออนไลน์


ขณะที่ทางด้านอุดมศึกษา นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะได้ออกประกาศขอความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน ทุกแห่งพิจารณาดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายการติดเชื้อ ลดการเดินทาง ลดกิจกรรมที่มีคนอยู่ร่วมกันในที่เดียวกันจำนวนมาก


เป้าหมายสำคัญคือหยุดการดำเนินงานด้านการเรียนการสอนทุกรูปแบบยกเว้นการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้

 

สถาบันอุดมศึกษาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากแบบปกติเป็นแบบออนไลน์โดยสมบูรณ์ครบทุกหลักสูตร ภายในวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

 

ยกเว้นบางหลักสูตรที่ต้องมีการปฏิบัติการ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาโดยให้บริหารจัดการให้สามารถเรียนและปฏิบัติการที่บ้านให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้มอบหมายให้อธิการบดีของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ

 

ดังนั้น มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทั้งที่พร้อมและไม่พร้อมจึงต้องปรับตัว จัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบทันที ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก กรุ๊ป (Facebook Group) เฟซบุ๊ก ไลฟ์ (Facebook Live) แฮงก์เอาต์ (Hangouts) และ Zoom Microsoft Teams เป็นต้น

 

นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดอว. ขยายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่ง ให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนออนไลน์เร็วขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเรียนยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างรวดเร็ว โดยอนาคตผู้เรียนสามารถเรียน และทบทวนความรู้ที่ใดก็ได้ ยกเว้นบางวิชาที่จำเป็นต้องเรียนในภาคปฏิบัติ เช่น นักศึกษาแพทย์ ที่ต้องเรียนกับคนไข้

 

“อว.สนับสนุนในหลายส่วน ทั้งการประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลุ่มผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศไทย ทั้งทรู เอไอเอส และดีแทค ในการร่วมกันสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ โดยนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานี้ หรือตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จะใช้อินเตอร์เน็ตได้ฟรีผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อเรียนในระบบออนไลน์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงบทเรียน ทำงาน และสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันอนาคตต้องไปดูระบบการสอบออนไลน์ การออกแบบการวัดผลประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกมหาวิทยาลัย” นพ.สรนิต อธิบายรายละเอียด

 

ด้าน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานทปอ. กล่าวว่า โมเดลคลาสเรียนออนไลน์จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระยะยาว ตามแนวคิดของ สจล.ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเรียนได้ทุกที่อย่างไร้ขีดจำกัด ขณะเดียวอำนวยความสะดวกให้อาจารย์ผู้สอนจัดคลาสเรียนออนไลน์ โดยสามารถเลือกประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการสอนที่เหมาะสม

 

หลักการของคลาสเรียนออนไลน์คือองค์ความรู้ในการเรียนการสอนต้องครบถ้วนเหมือนการเรียนในชั้นเรียน แต่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการพบปะกัน เพราะอาจเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยมีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกเรียน ทั้งการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook broadcast) ผ่านกลุ่มปิด (Closed group) ที่ตั้งขึ้นตามรายวิชา เพื่อให้นักศึกษากลับมาดูบันทึกวิดีโอย้อนหลังและทบทวนบทเรียนได้

 

ขณะที่ นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลระบบออนไลน์และมาตรฐานหลักสูตรใหม่ ของทปอ. กล่าวว่า เท่าที่มีการหารืออนาคตการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยในกลุ่มทปอ. นั้น ถือว่ามีความหลากหลาย มีทั้งมหาวิทยาลัยที่พร้อม และยังไม่พร้อม

 

เบื้องต้น ทปอ. จึงตั้งกลุ่มสื่อสารออนไลน์ ซึ่งรวมอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 3,000 คน ในชื่อกลุ่ม Online Education Academy เพื่อหารือ และช่วยเหลือกัน ในเรื่องการสอนออนไลน์ ทั้งในเรื่องการจัดทำหลักสูตร วิธีการสอนรูปแบบต่างๆ เป็นการแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน เชื่อว่าอนาคตจะพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และตอนนี้ต้องบอกว่า ทุกมหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบทุกแห่งแล้ว!!


ขณะเดียวกันยังเตรียมพร้อม “สอบออนไลน์” เพราะมองแล้วว่า สถานการณ์โควิด-19 คงไม่คลี่คลายไปง่ายๆ รวมถึงยัง เตรียมจัดทำ “หลักสูตรแนวใหม่” ซึ่ง ในอนาคตจะวัดประเมินผลจากสมรรถนะผู้เรียน โดยไม่ต้องอ้างอิงกับหน่วยกิตทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ไม่ใช่เฉพาะวัยปริญญาตรีเท่านั้น

 

“ขณะนี้ มธ.เรียนออนไลน์เต็มรูปแบบทุกวิชาเรียนแล้ว และเตรียมให้สอบออนไลน์ เพราะเห็นชัดว่ามีแนวโน้มไม่สามารถเปิดเรียนได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมพอสมควร อีกทั้ง การสอนออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวัดผล ประเมินผลผู้เรียน โดยจะต้องดูในส่วนของการเรียน และการทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ผู้สอนด้วย ส่วนอนาคตผมมองว่า แม้การเรียนการสอนออนไลน์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การเรียนในห้องเรียนยังจำเป็น เพราะบางอย่างไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ เช่น การฝึกปฏิบัติงานในเรื่องต่างๆ ยังไม่รวมถึงการทำกิจกรรม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการทำงานในอนาคต”นายชาลีกล่าว

 

แม้จะต้องเดินเครื่องเรียนออนไลน์เต็ม 100% แบบไม่ทันตั้งตัว ก็เชื่อว่าอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถเดินหน้า “สอนและเรียนออนไลน์” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัย ที่ยังตามไม่ทัน และอาจส่งผลกระทบกับคุณบัณฑิตที่จะจบมาในอนาคต

 

ดังนั้น มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่มทปอ. ที่ถือว่ามีศักยภาพ คงต้องไปคิดทบทวนว่าจะฉุดดึงมหาวิทยาลัยที่ไม่พร้อมให้ขึ้นมาใกล้เคียงกันได้อย่างไร เพราะคุณภาพบัณฑิต ย่อมสะท้อนถึงอนาคตของชาติเช่นกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง