รีเซต

เปิดผลวิเคราะห์งบฯ 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน กู้ชนเพดาน หนี้ผูกพันข้ามปีสูงสุดในรอบ 10 ปี

เปิดผลวิเคราะห์งบฯ 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน กู้ชนเพดาน หนี้ผูกพันข้ามปีสูงสุดในรอบ 10 ปี
ข่าวสด
29 พฤษภาคม 2564 ( 04:54 )
87
เปิดผลวิเคราะห์งบฯ 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน กู้ชนเพดาน หนี้ผูกพันข้ามปีสูงสุดในรอบ 10 ปี

 

สำนักงบฯ รัฐสภา เปิดผลวิเคราะห์งบฯ 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท รายจ่ายเกินรายได้ กู้ชดเชยขาดดุลเต็มกรอบ ก่อหนี้ผูกพันข้ามปี สูงสุดในรอบ 10 ปี

 

 

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงบประมาณของรัฐสภา(PBO) จัดทำรายงานวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อเสนอให้ ส.ส. และส.ว. รวมถึงคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 65

 

 

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ ได้แก่ งบประมาณปี 2565 มีตัวเลขคาดการณ์การจัดเก็บรายได้ สุทธิที่ 2.4 ล้านล้านบาท และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท มีข้อสังเกตสำคัญ คือ การกู้เงินเพื่อชดเชยดุลงบประมาณที่ 7 แสนล้านบาท เต็มกรอบวงเงินที่กฎหมายอนุญาตให้กู้เงินได้

 

 

ดังนั้น หากมีปรากฏการณ์ เหมือนปี 2563 ที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินชดเชยได้อีก และต้องหาแหล่งเงินจากช่องทางอื่น และทำอย่างระมัดระวัง โดยแนวทางการหารายได้ ต้องทำนอกเหนือจากเก็บภาษี อาทิ รายได้จากทรัพย์สินไม่หมุนเวียน ทำแผนลดค่าใช้จ่ายประจำปีให้เหมาะสม การร่วมทุนกับเอกชนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่

 

 

การจัดทำงบประมาณแม้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ แต่พบว่า รัฐบาลมีภาระทางการเงินที่ค้างชำระแก่สถาบันการเงิน สะสมรวม 862,792.1 ล้านบาท คิดเป็น 27.8% แม้จะอยู่ในกรอบกฎหมาย หากไม่ตั้งงบประมาณชดเชยตามกำหนดจะทำให้มียอดสะสมสูงขึ้นและกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังระยะยาวได้

 

 

รายงานวิคราะห์ระบุว่า สำหรับการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีจำนวนมาก มีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง และเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลังภาครัฐ เมื่อพิจารณางบผูกพันงบประมาณข้ามปี เฉพาะรายการใหม่ที่เริ่มดำเนินการในปี 2565 พบว่ามีจำนวนรวม 108,421.2 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมเงินนอกงบประมาณ และเมื่อรวมภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 ที่มียอดรวม 995,718.3 ล้านบาท จะมีวงเงินภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีรวมทั้งสิ้น 1,104,139.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.4% ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงสุดในรอบ 10 ปี

 

 

สำหรับกระทรวงที่มีภาระะผูกพันงบประมาณข้ามปีรายการใหม่ ในปีงบประมาณ 65 สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 3.49 หมื่นล้านบาท, 2.กระทรวงคมนาคม วงเงิน 1.48 หมื่นล้านบาท, 3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท, 4. กระทรวงกลาโหม วงเงิน 1.07 หมื่นล้านบาท และ 5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 7,573 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากระทรวงที่มีวงเงินที่เป็นภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีรวมทั้งหมด คือ กระทรวงคมนาคม มียอดรวมทั้งสิ้น 3.13 แสนล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย ยอดรวม 1.44 แสนล้านบาท และกระทรวงกลาโหม ยอดรวม 1.40 ล้านบาท

 

 

รายงานวิเคราะห์งบประมาณ ยังระบุถึงภาระของงบประมาณที่เกิดจากการดำเนินโครงการของรัฐบาล ที่มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินการตามนโยบายของรัฐ อาทิ โครงการประกันภัยข้าวนาปี, โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก รับผิดชอบโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)

 

 

จากการติดตามพบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าวใช้เงินทุนของหน่วยงานสำรองจ่าย และจัดทำคำของบประมาณเพื่อชดเชย พบว่าในปีงบประมาณ 2565 การทำโครงการตามนโยบายรัฐบาลสร้างภาระทางงบประมาณ ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดชย ตั้งแต่ปี 2565 - 2568 รวม 3.61 แสนล้านบาท โดยในปี 2565 มีการตั้งวงเงินเพื่อชดเชยเงินค้างจ่าย รวม 8 หมื่นล้านบาท

 

 

การวิเคราะห์งบประมาณ ยังสรุปผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 มีนาคม 2564 โดยงบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลงรายการยอดรวม 3.28 ล้านล้านล้านบาท เบิกจ่ายทั้งสิ้น 1.55 ล้านล้านบาท คงเหลือ 1.7 ล้านบาท

 

 

โดยมีการเบิกจ่ายของกระทรวงที่น่าสนใจ อาทิ กระทรวงกลาโหม มีงบ 2.14 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไป 8.1 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1.33 แสนล้านบาท, กระทรวงการคลัง มีงบ 2.68 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 1.56 แสนล้านบาท คงเหลือ 1.11 แสนล้านบาท, กระทรวงคมนาคม มีงบ 1.89 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 5 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1.39 แสนล้านบาท, กระทรวงพาณิชย์ มีงบ 6,825 ล้านบาท เบิกจ่าย 2,736 ล้านบาท คงเหลือ 4,089 ล้านบาท

 

 

กระทรวงสาธารณสุข มีงบ 1.45 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 6.6 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 7.9 หมื่นล้านบาท , กระทรวงมหาดไทย มีงบ 3.34 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 1.62 แสนล้านบาท คงเหลือ 1.72 แสนล้านบาท, งบกลาง มีงบ 6.14 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 2.43 แสนล้านบาท คงเหลือ 3.70 แสนล้านบาท, หน่วยงานรัฐสภา มีงบ 9,606 ล้านบาท เบิกจ่าย 3,463 ล้านบาท คงเหลือ 6,142 ล้านบาท เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง