รีเซต

ไวรัสโคโรนา : ใบรับรองแพทย์สำหรับผู้โดยสารก่อนเข้าไทย สกัดโควิด-19 ได้จริงหรือ

ไวรัสโคโรนา : ใบรับรองแพทย์สำหรับผู้โดยสารก่อนเข้าไทย สกัดโควิด-19 ได้จริงหรือ
บีบีซี ไทย
19 มีนาคม 2563 ( 21:38 )
124

ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนฯ ให้ผู้โดยสารไทยมีใบรับรองแพทย์ก่อนกลับเข้าประเทศสร้างความโกลาหลหน้าสถานทูต ไทยในกรุงลอนดอนเมื่อ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับคำถามว่า มาตรการนี้จะสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ

เมื่อ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยลงนามในประกาศแนวทางปฏิบัติรับวิกฤต ไวรัสโคโรนา ฉบับใหม่ ยกเลิกประกาศที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 มี.ค.

เนื้อหาของประกาศวันที่ 19 มี.ค. คือการขยายพื้นที่ครอบคลุมการบังคับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากทุกประเทศที่จะเข้าประเทศไทย ซึ่งเดิม ประกาศเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ครอบคลุมผู้โดยสารจากพื้นที่ระบาดหนัก 6 แห่ง คือ เกาหลีใต้ จีน มาเก๊า ฮ่องกง อิตาลี และอิหร่าน เท่านั้น

ประกาศนี้บังคับให้ชาวไทยเดินทางกลับประเทศจากทุกประเทศต้นทางต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง และใบรับรองจากสถานทูต

"ปัจจุบันปรากฏว่าองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับสถานการณ์แพร่ระบาดดังกล่าวเป็นโรคระบาดทั่วโลก" ประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยฉบับวันที่ 19 มี.ค. ระบุ

https://www.facebook.com/caat.thailand/photos/a.571511166344923/1546010822228281/?type=3&theater

ประกาศระบุว่า ข้อปฏิบัติใหม่มีขึ้น "เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนภายในประเทศในวงกว้าง และเพื่อการกำกับดูแลการบินพลเรือนในภาวะจำเป็นให้ได้อย่างทันท่วงที"

สำหรับผู้เดินทางสัญชาติอื่น ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วันที่ระบุว่าไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา และมีประกันสุขภาพวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาด้วย

ผู้โดยสารทั้งไทยและชาวต่างชาติ หากไม่มีเอกสารที่จำเป็นดังกล่าว สายการบินสามารถปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องได้

ประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยฉบับวันที่ 19 มี.ค.มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. เวลา 00.00 น. ยึดตามเวลาเช็คอินที่สนามบินต้นทาง ก่อนถึงเวลามีผลบังคับใช้

ความวุ่นวายที่อังกฤษ

ประกาศดังกล่าวได้สร้างความวุ่นวายและสับสนตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 18 มี.ค.ของอังกฤษแล้ว เมื่อสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแจ้งผ่านหน้าเฟซบุ๊ก อ้างประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่า ผู้ที่จะเดินทางกลับจากสหราชอาณาจักรถึงไทยตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค เป็นต้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางและใบรับรองการเดินทางกลับไทยจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน

ปรารถนา สำราญสุข นักศึกษาระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกกับบีบีซีไทย เมื่อ 19 มี.ค. มีคนไทยมากกว่า200 คนต้องยืนรอต่อคิวหน้าสถานเอกอัครราชทูตเพื่อรอยื่นเรื่องขอใบรับรอง

ปรารถนา ซึ่งเตรียมกลับบ้านวันอาทิตย์นี้ บอกว่าเป็นมาตรการที่ไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะการมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางไม่เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาเลยสักนิด และการต้องมายืนรวมตัวกับคนจำนวนมากในวันนี้ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อให้ผู้มาเข้าคิว

"รู้สึกว่ามันเป็นการตัดหางปล่อยวัดในทางหนึ่ง ไม่รู้ว่ารัฐบาลโดนโจมตีมากหรืออะไร ความต้องการกลับบ้านก็ลำบากอยู่แล้ว"

ปรารถนา บอกว่านักเรียนบางคนต้องซื้อตั๋วใหม่ราคาสูงลิบเพื่อที่จะได้กลับก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ เนื่องจากอยู่นอกลอนดอนออกไป และก็ไม่สามารถพบแพทย์ทัน

"ถึงแม้ว่าจะได้(ใบรับรอง)แล้ว ก็ไม่สมเหตุสมผลเพราะว่ามาตรวจโรควันนี้ จริง ๆ ถ้าหนูไม่แสดงอาการมันก็ไม่เจอ ถ้าหนูบินวันที่ 22 หนูอาจจะไปแสดงอาการอีกทีวันที่ 25 มันไม่ใช่มาตรการที่จะกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์"

https://www.facebook.com/ThaiEmbLondon/photos/a.530658943664967/2825811714149667/?type=3&theater

คิวยาว รอนาน เสี่ยงติดโรค

ปรารถนาบอกว่า "รู้สึกเลวร้ายมาก" ในสถานการณ์ที่มีการแนะนำให้คนอยู่ห่างกันแต่กลับต้องไปเข้าแถว แต่คนก็ต้องทำเพราะอยากกลับบ้าน

"บางคนเขาก็ไม่ใส่หน้ากาก การที่ยืนอยู่ตรงนั้นอย่างต่ำก็สองชั่วโมง ถ้ามีคนที่เป็นขึ้นมาจริง ๆ อาจจะเป็นฝรั่งที่เดินผ่านก็ตาม มันอันตรายมาก เห็นแต่ความเสี่ยง ไม่เห็นความป้องกันอะไรเลย"

ศิรดา เขมานิฏฐาไท เป็นนักเรียนไทยอีกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนี้ โดยเธอเขียนถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประกาศนี้ไม่ได้มีการปรึกษากันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นกระทรวงต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตที่ต้องมารับภาระ

"ตอนนี้เหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะสถานทูตก็ไม่มั่นใจว่าประชาชนถูกปฏิเสธให้ขึ้นเครื่องหรือไม่หากไม่มีใบดังกล่าว" ศิรดา ระบุ

เธอยังตั้งคำถามอีกด้วยว่า คนในชาติสามารถถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศตัวเองได้หรือไม่

"รัฐบาลส่วนกลางคุณจะไม่ใช้อำนาจบริหารที่มีอยู่ล้นมือทำอะไรเลยเหรอ ตอนนี้รัฐราชการมาก ๆ แต่ละหน่วยงานต้องมาดำเนินงานกันเอาเอง" ศิรดาตั้งคำถาม

https://www.facebook.com/ThaiEmbLondon/photos/a.530658943664967/2825800197484152/?type=3&theater

ก่อนหน้านี้ ศิรดา โพสต์ทางเฟซบุ๊กของเธอ โดยตั้งข้อสังเกตสรุปได้ว่า "ประกาศอย่างกระชั้นชิด สร้างความสับสน แม้กระทั่งในหมู่ข้าราชการเอง" โดยทางสถานทูต และนักเรียนทุนด้านแพทย์และวิทยาศาสตร์บางคนต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาหน้างานเอาเอง

"ประกาศนี้ผลักให้ประชาชนต้องเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น เพราะต้องมารวมกันอย่างแออัดในจุดเดียว คุณหมออาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ก็เสี่ยงไปด้วย และเจ้า fit to fly certificate ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าไม่มีcovidนะ เป็นการตรวจร่างกายคร่าวๆ เช็คความดัน เช็คออกซิเจนในเลือด ...ถ้าไปหาprivate GP ก็เสี่ยงที่จะเจอบริการที่แพงจนเกินเหตุ หรือหากอยู่นอกลอนดอนก็หาบริการได้ยากมากๆ"

ศิรดา ได้โพสต์ขอบคุณเจ้าหน้าที่สถานทูต "ที่ยืนหยัดให้บริการประชาชนเต็มที่" แม้นมีผู้ขอรับบริการบางคน "พยายามอยากใช้อภิสิทธิ์หน้างาน ขอลัดคิวในการตรวจโดยการอ้างผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านนี้ อยากบอกพวกท่านว่ายามหน้าสิ่วหน้าขวานยังจะมาเบียดเบียนคนอื่นๆอีก พอเถอะ"

บีบีซีไทย พยายามสอบถามเรื่องนี้ไปที่ นายพิษณุ สุวรรณชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง