ช้างแอฟริการุ่นใหม่วิวัฒนาการให้งาหายไป เพื่อเอาชีวิตรอดจากพรานล่าสัตว์
งาสีขาวรูปทรงงอนงาม นับว่าเป็นอวัยวะที่โดดเด่นเป็นสง่าที่สุดของช้าง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่างาคู่สวยนั้นจะนำพาภัยอันตรายมายังช้างที่เป็นเจ้าของในที่สุด
ปัจจุบันการล่าช้างเพื่อเอางายังเป็นที่นิยมกันในบางส่วนของโลก แต่การล่านี้ทำกันอย่างแพร่หลาย จนช้างบางสายพันธุ์ต้องปรับตัวในระดับพันธุกรรมเพื่อความอยู่รอดกันเลยทีเดียว
ล่าสุดมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ได้แสดงหลักฐานบ่งชี้ว่า ช้างป่ารุ่นใหม่ในแอฟริกามีวิวัฒนาการให้ตัวมันเองไม่มีงา เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของพรานล่าสัตว์อีกต่อไป
การวิจัยนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เมื่อ ผศ.ดร. เชน แคมป์เบลล์-สเตตัน นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันของสหรัฐฯ สังเกตพบความผิดปกติดังกล่าวเป็นครั้งแรกในคลิปวิดีโอบนยูทิวบ์ ซึ่งบันทึกภาพโขลงช้างในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซาของประเทศโมซัมบิก โดยเขาพบว่าช้างพังหรือช้างตัวเมียในคลิปหลายตัวไม่มีงา ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วช้างพังแบบนี้จะมีอยู่ราว 2% เท่านั้นในหมู่ประชากรช้างแอฟริกัน
เมื่อ ดร. แคมป์เบลล์-สเตตัน ได้เดินทางไปตรวจนับจำนวนช้างพังไม่มีงายังสถานที่จริง และเปรียบเทียบตัวเลขที่ได้กับสถิติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาพบว่าจำนวนของช้างพังไร้งาเหล่านี้เพิ่มขึ้นจาก 18.5% ของประชากรช้างทั้งหมดในอุทยานแห่งชาติโกรองโกซา มาเป็น 33% ในช่วงเวลาเพียง 3 ทศวรรษ ระหว่างปี 1977-2004
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของช้างพังไร้งานี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะปรากฎการณ์ดังกล่าวมาพร้อมกับสงครามกลางเมืองในโมซัมบิกซึ่งเปิดฉากขึ้นในปี 1977 การสู้รบอย่างดุเดือดเป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี ทำให้มีการออกล่าช้างเอางากันอย่างมโหฬาร เพื่อนำงาช้างไปขายเป็นเงินสนับสนุนการทำสงครามของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย
ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง ประชากรช้างป่าของโมซัมบิกลดฮวบลงกว่า 90% ในขณะที่จำนวนช้างพังไร้งากลับเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า จนมีจำนวนมากถึง 50% ของช้างพังทั้งหมด
แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในยุคหลังสงคราม โดยระหว่างปี 1995-2004 มีช้างพังถึง 1 ใน 3 เชือกที่เป็นช้างไร้งา เมื่อเทียบกับสถิติช่วงก่อนสงครามที่พบได้เพียง 1 ใน 5 เท่านั้น
สำหรับช่วงปี 1972-2000 จำนวนของช้างตัวเมียที่มีชีวิตรอดากการถูกล่านั้น สามารถจำแนกได้ในอัตราส่วน 5:1 หรือคิดเป็นช้างพังไร้งา 5 เชือก ต่อช้างพังที่มีงาเพียง 1 เชือก
"มีโอกาสน้อยมากที่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในวงกว้างขนาดนี้จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ" ดร. แคมป์เบลล์-สเตตัน กล่าว "นอกจากหลักฐานทางสถิติแล้ว ผลการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ของเรายังชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นวิวัฒนาการที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่สั้นมาก โดยมีการส่งต่อยีนกลายพันธุ์ที่ทำให้การสร้างฟันและงาบกพร่อง จากบรรดาแม่ช้างไปยังลูกสาว"
"แม้วิวัฒนาการนี้จะช่วยชีวิตช้างพังของแอฟริกาไว้ได้หลายตัว แต่การที่ประชากรช้างมีงาน้อยลงจะทำให้มันเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นอาจไม่ยอมล้มต้นไม้หรืองัดแกะเปลือกไม้เช่นเคย จนส่งผลกระทบต่อการเติบโตของพืชบางชนิดและทำลายระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวงได้ เราอาจต้องใช้เวลานับร้อยปี กว่าที่ความเปลี่ยนแปลงนี้จะกลับคืนสู่สมดุลตามธรรมชาติ ในสภาพเดิมก่อนสงคราม" ดร. แคมป์เบลล์-สเตตัน กล่าวสรุป