รีเซต

อิตาเลียนไทยฯ-วสท. ส่ง "ตู้ความดันลบ" ให้ กทม.ใช้รักษาผู้ป่วย "โควิด-19"

อิตาเลียนไทยฯ-วสท. ส่ง "ตู้ความดันลบ" ให้ กทม.ใช้รักษาผู้ป่วย "โควิด-19"
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 13:50 )
124
อิตาเลียนไทยฯ-วสท. ส่ง "ตู้ความดันลบ" ให้ กทม.ใช้รักษาผู้ป่วย "โควิด-19"

อิตาเลียนไทยฯ-วสท. ส่ง “ตู้ความดันลบ” ให้ กทม.ใช้รักษาผู้ป่วย “โควิด-19”

กทม.- เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่โรงพยาบาล (รพ.) เจริญกรุงประชารักษ์ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ คณะผู้บริหารรพ.เจริญกรุงฯ รับมอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 2 ตู้ จาก นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และนายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัยโควิด-19 วสท. เพื่อใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ในอนาคต

นางศิลปสวย กล่าวว่า สำหรับตู้ความดันลบที่ได้รับบริจาค เป็นตู้ความดันลบแบบที่ 1 ขนาดกว้าง 1.30 เมตร ยาว 2.60 เมตร สูง 2.20 เมตร สำหรับ 1 เตียงคนไข้ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 0.60 เมตร ยาว 1.90 เมตร และเสาน้ำเกลือสูง 2.10 เมตร หรือคนไข้นั่ง 3-4 คน ตามระยะห่างความปลอดภัยต่อการแพร่เชื้อ โดย บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการผลิต และ วสท.เป็นผู้ออกแบบ

นางศิลปสวย กล่าวว่า ตู้ดังกล่าวได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และหลักวิศวกรรมในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสถานที่ มีน้ำหนักเบาและสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 15 นาที ปลอดภัยต่อการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้ง่าย

“วัสดุส่วนประกอบ ได้แก่ ท่อพีวีซี ข้องอ 90 องศา ข้อต่อสามทาง ข้อต่อท่อรูกันซึม เกลียวเร่ง (Turnbuckle) Clamp รัดสลิง เกลียวปล่อย และลวดสลิง ผนังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสมาตรฐาน GMP หนา 60 ไมครอน โดยตู้ความดันลบนี้ต้องผ่านสองเงื่อนไขหลัก คือความสะอาดและความดันห้อง ซึ่งจะมีการนำอากาศจากภายนอกห้องไหลเข้ามาเจือจางอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้องด้วยพัดลมดูดอากาศที่ด้านหัวเตียงคนไข้ในอัตราไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมง (ACH) เพื่อนำอากาศที่เจือจางนี้ทั้งหมด (100%) ไปปล่อยทิ้งนอกอาคารในระยะห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8 เมตร หรือปล่อยทิ้งที่หลังคาสูงอย่างน้อย 3 เมตร โดยไม่นำอากาศที่เจือจางนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งจะต้องไม่ให้อากาศที่เจือจางนี้สามารถไหลกลับเข้ามาในอาคารได้ด้วย” ปลัดกทม. กล่าว

ทั้งนี้ ปลัด กทม. และคณะได้รับชมการสาธิตการไม่ลามไฟของแผ่นพลาสติกที่ใช้เป็นผนัง และหลังคา ตามมาตรฐาน UL 94 ที่กำหนดวิธีการทดสอบ และแบ่งระดับการไม่ลามไฟของพลาสติก ทดสอบโดยใช้แผ่นพลาสติกที่ตัดบางส่วนจากตู้ความดันลบที่ส่งมอบมาเป็นชิ้นทดสอบ และใช้เปลวไฟจากไฟแช็กเผาที่ปลายแผ่นพลาสติกในแนวตั้งเป็นเวลา 10 วินาที แล้วนำเปลวไฟออก ผลทดสอบผ่านการไม่ลามไฟ คือไฟสามารถดับได้เอง และไม่มีลูกไฟหยดลงพื้นด้านล่าง จากนั้นให้ใช้แผ่นพลาสติกเดิมเผาในแนวนอน โดยนำไฟแช็กเผา ผลคือไม่มีลูกไฟหยด แผ่นพลาสติกไม่เป็นรู ไม่เสียรูปร่างและมวลสาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง