ชาวบ้านนับร้อยแห่หยอดหอยหลอด อบต.ละงูเปิดรับนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรม
ข่าววันนี้ ที่หาดหน้าบ้านหัวหิน หมู่ที่ 1 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ชาวบ้านกว่า 200 คน หิ้วถัง ปูนขาว และก้านมะพร้าว มุ่งหน้าออกล่าหอยหลอด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ยอน (หยอด) หอยหลอด กันเต็มหาด
ทันทีที่ฟ้ายังไม่สาง ชาวบ้านหัวหิน ตำบลละงู บ้างก็นั่งเรือออกไปก่อนน้ำทะเลจะลดตั้งแต่เวลา 2 นาฬิกา บ้างก็เดินเท้าย่ำโคลนทรายไปไกลกว่า 1 กิโลเมตรในช่วงเวลา 05:00 นาฬิกา เพื่อจับจองที่รอน้ำลดเพื่อจะได้ยอน (หยอด) หอยหลอด
ฤดูการหาหอยหลอด ของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้จะออกหาหอยหลอด เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมตะวันออก ที่พัดน้ำทะเลลดลงทำให้การหาหอยได้ง่ายๆ ขึ้น
วิธีการหาหอยของคนที่นี่ ยังคงเป็นการหาแบบอนุรักษ์หาตามวิถีคนพื้นถิ่น คือ ใช้ก้านมะพร้าวจิ้มปูนกินหมากเพื่อแหย่ลงไปในรู ที่คิดว่ามีตัวหอย จนตัวหอยเด้งขึ้นมาและรีบใช้มือจับไว้เพราะมิฉะนั้นหอยหลอดจะดันตัวกลับเข้าไปในรูดังเดิม
นางสาวฐิติรัตน์ ใจดี อายุ 33 ปี ชาวบ้านหัวหิน บอกว่า ตนมาหาหอยในยามว่างในช่วงที่อ่านหนังสือเตรียมสอบเพื่อรองาน ไว้เป็นกับข้าวในครอบครัว หากเหลือจากกินก็คิดว่าจะนำไปขาย ในยามเศรษฐกิจแบบนี้การออกมาหาหอยก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลายอย่าง ได้ทานอาหารทะเลสดๆ และยังสามารถเป็นรายได้เสริม
นางจำปี บุญเพิ่ม อายุ 61 ปี ชาวบ้านหัวหิน หนึ่งในผู้ยอนหอยหลอดที่มีความเชี่ยวชาญ บอกว่า ออกมายอนหอยมากกว่า 20 ปี แล้วเคยได้หอยมากสุด 4-5 กิโลกรัมในเวลาเพียง 2 ชั่วโม หลังเหลือจากกับข้าวก็จะนำไปขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 150 บาทถึง 200 บาท แล้วแต่ขนาดของตัวหอย ก็เป็นอีกหนึ่งรายได้ให้กับตนเองและผู้สูงอายุหลายคนในหมู่บ้าน ได้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว
หอยหลอดในหาดแห่งนี้ จริงๆแล้วสามารถหาได้ตลอดทั้งปี แต่ด้วยธรรมชาติของน้ำทะเลที่ไม่ลดลง ทำให้เป็นข้อจำกัดไม่สามารถลงไปหาได้ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการอนุรักษ์โดยธรรมชาติ เป็นตัวกำหนดทำให้หอยหลอดบริเวณนี้มีตัวใหญ่สุดขนาด 10-17 ตัว 1 กิโลกรัม และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องทะเลแห่งนี้ยังมีปูปลาและอาหารทะเลมากมายให้รับประทาน
องค์การบริหารส่วนตำบลละงู ทุกปีได้จัดเทศกาลยอนหอยหลอด แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด19 มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมมาเป็น การแข่งขันหายอนหอยหลอด ในหมู่บ้านแทน โดยจะให้รางวัลกับชาวบ้านที่หาได้น้ำหนักเยอะ และขนาดตัวใหญ่ โดยเน้นการอนุรักษ์ไม่เก็บเอาตัวหอยหลอดตัวเล็กมา จะได้เงินรางวัลรางวัลที่1 (2500 บาท) รางวัลที่2 (1500 บาท) รางวัลที่3 (1000 บาท) โดยวันนี้นายกอเฉ็ม เร่สัน ได้น้ำหนักเยอะสุดคือ 10 . 5 กิโลกรัม รางวัลที่ 2 ได้นางวิไล โต๊ะหมาด ได้ 9.5 กิโลกรัม และรางวัลที่ 3 ได้ นางสะนี วังสุปิเยาะ ได้ 8.2 กิโลกรัม
นอกจากนี้นายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู ยังได้ส่งเสริม ให้ชาวบ้านหาหอยหลอดแบบอนุรักษ์โดยไม่เก็บหอยที่มีขนาดเล็ก เพื่อให้ขยายพันธุ์ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน โดยมีชาวบ้านเป็นไกด์ในการนำเที่ยวทดลองการหาหอย การตกปลา และหาปู โดยจะได้สัตว์น้ำเหล่านี้กลับไปเป็นของฝากด้วย นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงู