รีเซต

พม.แจงเงิน 2,000 เป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่เยียวยาโควิด เดือดร้อนโทร 1300 ขอความช่วยเหลือได้ (คลิป)

พม.แจงเงิน 2,000 เป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่เยียวยาโควิด เดือดร้อนโทร 1300 ขอความช่วยเหลือได้ (คลิป)
มติชน
28 เมษายน 2563 ( 13:08 )
1.9K
พม.แจงเงิน 2,000 เป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่เยียวยาโควิด เดือดร้อนโทร 1300 ขอความช่วยเหลือได้ (คลิป)

พม.แจงเงิน 2,000 บาท เป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่เยียวยาโควิด เดือดร้อนโทร 1300 ขอความช่วยเหลือได้

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 เมษายน ที่โถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เป็นกรณีเร่งด่วน

 

 

นางพัชรี กล่าวว่า จากกรณีข่าวต่างๆ ที่ออกไปว่ากระทรวงพม. จะให้เงินเยียวยา 2,000 บาทนั้น คือเงินช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม เป็นเงินสงเคราะห์ของพม. ไม่ใช่เงินเยียวยา ซึ่งเราให้กับผู้ที่ประสบปัญหา มีนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่เข้าไปดูแลรายบุคคล นอกจากเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทแล้ว ก็ยังจะดูว่าในครอบครัวมีผู้สูงอายุ คนพิการ หรือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือไหม เพื่อสนับสนุน นมผง แพมเพิร์ส หรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับผู้พิการ ผู้สูงอายุ

 

“โดยจะสงเคราะห์เป็นรายบุคคลให้กับผู้เดือดร้อน ไม่ได้ให้กับทุกคน ทั้งนี้ พม.ได้ให้ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม. ที่มีอยู่ทุกชุมชน 286 ชุมชน ให้รีบดำเนินการลงไปช่วยเหลือแล้ว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 48 ชั่วโมง ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถแจ้งความเดือดร้อนกับอพม. หรือ ที่เบอร์ 1300 ได้”

 

“สำหรับเงินช่วยเหลือนี้ แม้ได้เงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว แต่ยังมีความเดือดร้อนอยู่ ก็สามารถมาขอความช่วยเหลือได้ ไม่ได้ตัดสิทธิ ขอให้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ เช่นมีรายได้ แต่ในครอบครัวมีผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรืออยู่กัน 7-8 คน เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ช่วยไม่ไหว ทางพม.ก็ยินดีช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องให้นักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่ไปดูอีกครั้ง อาจไม่ได้รับเงิน 2,000 บาท แต่ก็ยังมีความช่วยเหลืออื่นๆ จากระเบียบเดิม เงินก้อนนี้จะให้ไม่เกินปีละ 3 ครั้งต่อราย แต่เพื่อให้เป็นการทั่วถึง จึงจำเป็นต้องให้รายละ 1 ครั้งต่อปี”

 

“อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้ว เราก็ยังติดตามความเดือดร้อนต่อไป สำหรับงบประมาณในส่วนของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก จะมีกรมที่เกี่ยวของเข้ามาดูแล นอกเหนือจากนั้นส่วนของผู้ตกงานและผู้เร่ร่อน สำนักงานปลัดเป็นผู้ดูแล มีเงินอยู่ 20 ล้านบาท ซึ่งกำลังพิจารณาหางบจากส่วนอื่น ที่ทำไปแล้วคือการตัดงบอบรมสัมมนา และจะพิจารณาตัดงบประชุมต่างๆ ซึ่งจะดึงมาใช้ได้ประมาณ 20 ล้านบาท ต้องขอกรมบัญชีกลางแปรงบอีกครั้งหนึ่ง” นางพัชรีกล่าว

 

นางพัชรี กล่าวว่า สำหรับเรื่องคนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง เรามีโครงการ พม. เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งรับผู้ที่ประสบปัญหาและผู้เร่ร่อน มาพักอาศัยในสถานที่ที่เตรียมไว้ อาจไม่ได้เหมือนโรงแรม มีอาหารให้ 3 มื้อ ก็ยังคงให้ความช่วยเหลืออยู่ โดยนับแต่วันที่ 4-27 เมษายน มีจำนวนทั่วประเทศ 332 ราย ในกรุงเทพฯ 181 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องการที่พัก 160 ราย และ เร่ร่อน 21 ราย ได้ส่งต่อไปยังบ้านพักในพื้นที่จังหวัดอื่นๆต่อไป ขณะที่ โครงการครัวกลางนั้น พม.ได้รับมอบหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ที่จะประสานงานกับผู้บริจาค นำไปบริหารจัดการส่งต่อให้กับคนทั่วประเทศต่อไป

 

“พม.เป็นห่วงถึงผู้เดือดร้อน จนต้องไปฆ่าตัวตาย โดยจากสถิติในช่วงโควิด มีผู้ฆ่าตัวตาย 93 ราย โดย 68 ราย ทำสำเร็จ 11 ราย ระบุว่าเป็นเพราะโควิด บางส่วนเป็นเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ และความรัก โดยเราได้ส่งต่อผู้ที่ทำไม่สำเร็จให้พมจ.เข้าไปดูแล โดยอยากให้ผู้เดือดร้อน โทรเข้ามาแจ้งที่พม. ที่เบอร์ 1300 ซึ่งมีนักสังคมสงเคราะห์ดูแลอยู่ หากมีความเดือดร้อนเราจะรับเรื่องและส่งต่อยังพมจ.จังหวัดต่างๆ และดูแลเรื่องจิตวิทยาด้วย” นางพัชรี กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง