รีเซต

สธ.เผยผลสำรวจ 4 แสนคนไทย กว่า 50% มั่นใจรัฐบาลรับมือ 'โควิด-19' ระลอก 2 ได้

สธ.เผยผลสำรวจ 4 แสนคนไทย กว่า 50% มั่นใจรัฐบาลรับมือ 'โควิด-19' ระลอก 2 ได้
มติชน
10 กรกฎาคม 2563 ( 14:19 )
69
สธ.เผยผลสำรวจ 4 แสนคนไทย กว่า 50% มั่นใจรัฐบาลรับมือ 'โควิด-19' ระลอก 2 ได้
สธ.เผยผลสำรวจ 4 แสนคนไทย กว่า 50% มั่นใจรัฐบาลรับมือ ‘โควิด-19’ ระลอก 2 ได้

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นเลขานุการทีมวิชาการจัดทำแบบสำรวจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน เพื่อประเมินว่าคนไทยการ์ดตกหรือไม่ และนำข้อมูลไปใช้ในการเฝ้าระวังและปรับมาตรการผ่อนปรนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทำการเก็บข้อมูลผ่าน 3 ช่องทาง คือ ออนไลน์แพลตฟอร์ม โทรศัพท์สำรวจ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ประสานความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 77 จังหวัด กระตุ้นให้ประชาชนในชุมชนร่วมตอบแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ ใน 7 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 407,008 ตัวอย่าง พบว่า คนไทยยังมีความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานที่ที่กลัวระบาดมากที่สุดคือ จากกลุ่มผับ บาร์ คาราโอเกะ รองลงมา ตลาดสด ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนตามลำดับ รวมถึงยังกังวลมาก หากประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจในมาตรการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยมั่นใจมากร้อยละ 14.8 มั่นใจร้อยละ 40.5 ไม่มั่นใจนักร้อยละ 28.6 ไม่มั่นใจเลยร้อยละ 10.2 ไม่ทราบ/ไม่แสดงความคิดเห็นร้อยละ 5.9

นพ.ธเรศ กล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองภาพรวมมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 85.3 ในสัปดาห์ที่ 1 ลดลงเป็นร้อยละ 80.7 ในสัปดาห์ที่ 7 แบ่งเป็นพฤติกรรม 5 ด้าน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ร้อยละ 87.9, การกินอาหารร้อนช้อนตนเอง ร้อยละ 86.2, การล้างมือบ่อยๆ ร้อยละ 84.9 การระวังตัวไม่อยู่ใกล้ผู้อื่นในระยะ 2 เมตร ร้อยละ 73.4 และการระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก ร้อยละ 72.4

“นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนมีแนวโน้มเกิดการรวมกลุ่ม และไปต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนสาเหตุการไม่ลงทะเบียนเข้าออกผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจากลืม ไม่มั่นใจความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว และทางร้านไม่มีคิวอาร์โค้ด หรือสมุดลงชื่อไว้ให้” นพ.ธเรศ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 88 สนับสนุนการรับคนไทยกลับจากต่างประเทศ และร้อยละ 80 คิดว่ามาตรการแทรเวล บับเบิล (Travel Bubble) จะสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้ แต่ร้อยละ 70 ไม่สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชนไทยอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ อีก 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม – วันที่ 24 กันยายน 2563 เพื่อนำผลการศึกษามาใช้ในการเฝ้าระวังและปรับมาตรการผ่อนปรนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง