รีเซต

'ชวน' ชี้ ปัญหาความไม่เป็นธรรม-เลือกปฏิบัติ ยังไม่หมด แนะเร่งแก้วัฒนธรรมเกรงใจ ส่งผลผู้บริหารบ้านเมือง-ขรก.ติดคุก

'ชวน' ชี้ ปัญหาความไม่เป็นธรรม-เลือกปฏิบัติ ยังไม่หมด แนะเร่งแก้วัฒนธรรมเกรงใจ ส่งผลผู้บริหารบ้านเมือง-ขรก.ติดคุก
มติชน
11 เมษายน 2565 ( 14:20 )
66

เมื่อวันที่ 11 เมษายน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี การก่อตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินกับการเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม” ตอนหนึ่งระบุว่า กฎหมายกำหนดบทบาท ภารกิจผู้ตรวจการแผ่นดินกฎหมายไว้ชัดเจน สามารถเชิญผู้แทนองค์กรอื่นมาหารือ และมีผลอย่างไรก็ให้ปฏิบัติไปตามที่ผู้ตรวจฯมีข้อเสนอแนะ ที่ผ่านมาแม้มีองค์กรที่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาและให้ความเป็นธรรมประชาชน แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จึงเกิดแนวคิดในเรื่องการบริหารงานอย่างไรเพื่อให้ปัญหาดังให้ได้รับการเยียวยาแก้ไข หรือไม่เกิดขึ้นอีก เป็นที่มาของหลักธรรมาภิบาล หรือ หลักการบริหารงานของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกำหนดหลักกว้างๆ คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรมจริยธรรม หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักการตรวจสอบถ่วงดุลและหลักความรับผิดชอบ และหลักการคุ้มค่า แต่แม้ใช้หลักเหล่านี้ ความผิดพลาดก็ยังเกิดขึ้น ผู้บริหารติดคุกตะรางกันมากมาย ในสถิตินับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา เราไม่เคยมีผู้บริหารระดับสูงติดคุกตั้งแต่ตัวนายก รมต. ปลัดกระทรวง อธิบดี ไปจนถึงระดับล่าง ๆ คนติดคุกเหล่านี้มาจากการละเมิดหลักธรรมาภิบาลที่กำหนดไว้ แสดงว่าหลักนี้แม้มีการประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่ก็มีปัญหาบางอย่างในสังคมเรา ซึ่งผมคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถตรวจสอบได้นั่นคือหลักที่รู้ว่ามันไม่ถูก แต่มันเป็นวัฒนธรรมของความเกรงใจกัน

 

“ผมไปดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินก็ดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินก็ดี และศาลอื่น ที่ตัดสินความผิดผู้กระทำความผิดที่มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ส่วนใหญ่ก็มาจากรู้ว่าหลักที่กำหนดนั้นควรทำอย่างไร แต่ว่าความเกรงใจหรือความที่กลัวว่าจะกระทบต่อสถานภาพตัวเอง ก็เลยไปออกนโยบายหรือทำอะไรที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล เลยทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้ที่ต้องโทษ จำคุกมากเป็นประวัติการณ์ ไม่เคยมียุคใดที่มีคนระดับสูงตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ติดคุกมากเช่นขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าลำพัง เพียงกฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่พอ จำเป็นต้องอิงเรื่องอื่นๆ เช่นต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมเรื่องความเกรงใจ ว่าเราจะหลีกเลี่ยงเรื่องนี้อย่างไร ผมใช้คำว่า เราขัดใจผู้บังคับบัญชาดีกว่าที่จะเลี่ยงติดคุกในอนาคต เพราะดูแล้วคนที่ติดคุกที่เป็นข้าราชการเหล่านั้นเขาทำตามที่ฝ่ายการเมืองแนะนำให้ทำ ฝ่ายการเมืองปลอดภัย แต่ฝ่ายประจำติดคุก เพราะไปทำตามที่เขาสั่งให้ทำโดยวาจา ไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นสั่งให้ตั้งคนของเขาเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร ก็ทำให้ปลัดกระทรวงการคลังต้องถูกให้ออกในที่สุด หรือกรณีที่ไปปฏิบัติตามนโยบายบางเรื่องแล้วกระทบกับเศรษฐกิจของบ้านเมือง ในที่สุดรมต. อธิบดีก็เป็นผู้ที่ติดคุกแทนผู้บริหารสูงสุดที่ออกนโยบายเรื่องนั้นมา ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะอยากให้มองภาพความเป็นจริงในสังคม ดังนั้นแม้มีองค์กรอื่นเกิดขึ้นมากมายในการคุ้มครองความเป็นธรรมในสังคมก็ตามแต่ก็เหมือนว่าปัญหายังมีอยู่ การที่ผู้ตรวจการเกิดขึ้นก็หวังว่าจะไปอุดช่องว่างเหล่านี้ได้ ”

 

นายชวน ยังกล่าวอีกว่า อยากให้ผู้ตรวจฯเข้าไปดูแลเรื่องที่แม้จะเป็นเล็กน้อยแต่เป็นความทุกข์ของประชาชน ความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่หากละเลยก็อาจเป็นตัวอย่างให้เกิดซ้ำและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าหลายเรื่องที่ผู้ตรวจฯทำมีผลกระทบต่อกฎหมายระดับชาติ เช่นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้อำนาจกรรมาธิการในการเรียกผู้บริหารองค์กรต่างๆ มาชี้แจง แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบางมาตราของกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่เฉพาะกับคนระดับล่างที่เกี่ยวกับชาวบ้านร้องขอความเป็นธรรมในสังคมเท่านั้น แต่ปัญหาระดับชาติผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในขณะที่ฝ่ายอื่นอาจมองข้ามไป

 

“แนวทางที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพึ่งพาองค์กรอื่นในการทำงาน ผมเห็นด้วยที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช้วิธีการไปตั้งสาขาอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่นอกจากจะเป็นภาระกับบ้านเมือง ยังสิ้นเปลืองงบประมาณ กำลังคน และในที่สุดกลายไปเป็นองค์กรหาผลประโยชน์เหมือนที่เรามีบางองค์กร นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังกลายเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง จึงสนับสนุนให้ผู้ตรวจฯใช้หลักการประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้าไปดูแลแก้ปัญหา เพราะกฎหมายก็ให้เครื่องมือผู้ตรวจการแผ่นดินจัดการกับองค์กรที่ไม่ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ”

 

นายชวน ยังเห็นว่าปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีสถิติคนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนติดอันดับโลก ขณะนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปกติสถิติผู้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตจะสูง ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถหยิบยกเสนอต่อรัฐบาลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป ขณะเดียวกันกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ เรื่องการลดโทษคนโกงบ้านโกงเมือง ตนเองได้เรียนนายกรัฐมนตรีว่าประชาชนรับไม่ได้ นายกฯก็บอกว่าไม่เห็นด้วยแต่ว่าแก้ไม่ทัน คิดว่าเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องตาม เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้ โกงไปก้อนหนึ่งติดคุกไม่กี่ปี ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ติดอยู่ 7-8 ปี ออกมาแล้วเงินที่เก็บไว้ตอนโกง ลูกหลานใช้อีกหลายชั่วคนสบาย เราต้องไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินช่วยดูระดับชาติ ระดับที่คิดว่าก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแน่ๆในสังคม เกิดจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น

 

นอกจากนี้นายชวน ยังระบุว่า ได้ขอให้นายกรัฐมนตรี ช่วยทำถนนสายใหม่บ้านใต้ให้สายหนึ่งเข้ากรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลว่าภาคใต้ถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายฝ่ายการเมืองที่ว่าจะพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเขา ถ้าไม่เลือกก็ไม่พัฒนา ทำให้เสียโอกาส และมีความจริงอีกข้อหนึ่งคือถนนที่มีอยู่แล้วไม่ให้ซ่อม ตนอาศัยข้าราชการสำนักนายกช่วยตรวจย้อนหลัง พบว่าสมัยนั้นถนนที่มีอยู่แล้วไม่ให้ซ่อม ทำให้ถนนภาคใต้เลวร้ายไปหมด ต้องมาแก้ไขในภายหลัง วิศวกรบอกว่ามันอายุเกิน 7 ปีแล้ว และมีน้ำเข้าไปใต้ผิวจราจร ไม่สามารถซ่อมได้มีทางเดียวคือรื้อและสร้างใหม่ เป็นเรื่องจริงที่เกิดจากการที่ผู้บริหารบ้านเมืองเลือกปฏิบัติ ซึ่งหากเราหวังความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังบมีการเลือกปฏิบัติ และไม่ให้ความเป็นธรรมตามกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง