รีเซต

รัฐบาลประยุทธ์ ดัน "หนี้ประเทศ" ทะลุแล้ว กว่า 9 ล้านล้าน! สวนทางกับรายได้

รัฐบาลประยุทธ์ ดัน "หนี้ประเทศ" ทะลุแล้ว กว่า 9 ล้านล้าน! สวนทางกับรายได้
ข่าวสด
4 ตุลาคม 2564 ( 10:31 )
23
รัฐบาลประยุทธ์ ดัน "หนี้ประเทศ" ทะลุแล้ว กว่า 9 ล้านล้าน! สวนทางกับรายได้

"รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ดัน "หนี้ประเทศ" ทะลุแล้ว กว่า 9 ล้านล้านบาท สวนทางจัดเก็บรายได้ ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.85 แสนล้านบาท

 

 

4 ต.ค. มีรายงานว่า กระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2564 มียอดหนี้จำนวน 9,159,513 ล้านบาท หรือ 57.01% ของจีดีพี เทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 250,450 ล้านบาท โดยหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 มียอดหนี้จำนวน 8,909,063 ล้านบาท หรือ 55.59% ของจีดีพี ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินสิ้นปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ 58.88%

 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 60% เป็น ต้องไม่เกิน 70% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี

 

 

นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเห็นชอบการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 วงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการกู้เงินใหม่จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2565 จำนวน 7 แสนล้านบาท และเป็นการกู้เงินตาม พ.ร.ก.แก้ปัญหาโควิด 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 62.69% ขณะที่การเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563 – ส.ค.2564) เก็บได้ 2.1 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.85 แสนล้านบาท หรือ 11.9% และต่ำกว่าช่วงเดียวกัน 5.72 หมื่นล้านบาท หรือ 2.6%

 

 

โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าหมาย 1.86 แสนล้านบาท หรือ 10.4% กรมสรรพสามิตต่ำกว่าเป้าหมาย 8.49 หมื่นล้านบาท หรือ 14.7% และการส่งรายได้ข้องรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าเป้าหมาย 1.9 หมื่นล้าน หรือ 12.4% เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

 

 

ด้านฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 11 เดือนแรกของปี งบประมาณ 2564 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 2.14 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 6.75 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนส.ค. 2564 มีจำนวน 4.99 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง