รีเซต

ผู้ส่งออกไทยมีเฮ! ใช้สิทธิอาร์เซ็ป ส่งออกไปเกาหลีใต้ ได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 65

ผู้ส่งออกไทยมีเฮ! ใช้สิทธิอาร์เซ็ป ส่งออกไปเกาหลีใต้ ได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 65
มติชน
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 11:04 )
63
ผู้ส่งออกไทยมีเฮ! ใช้สิทธิอาร์เซ็ป ส่งออกไปเกาหลีใต้ ได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 65

ข่าววันนี้ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมในฐานะผู้ดูแลการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และกำกับดูแลการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต ภายใต้ความตกลง RCEP ได้เปิดให้บริการออก Form RCEP รวมถึงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

 

โดยวันที่ 1 มกราคม 2565 ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

 

ขณะนี้มีประเทศสมาชิก RCEP ที่ได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้เพิ่มเติมแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และมาเลเซีย ที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้วันที่ 18 มีนาคม 2565

 

ทั้งนี้ ยังขาดสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศที่ RCEP ยังไม่มีผลบังคับใช้ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา

 

“ขณะนี้ กรมจึงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเปิดระบบที่เกี่ยวข้องกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการส่งออกไปยังเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และระบบการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP สำหรับการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ได้ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้กับเกาหลีใต้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และกรมอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายระบบให้ครอบคลุมการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียที่ RCEP กำลังมีผลบังคับใช้วันที่ 18 มีนาคม 2565 ”

 

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า เน้นย้ำว่าสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTAs ถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการส่งออกและเป็นแต้มต่อให้แก่ผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลง RCEP เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งในด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าจากภาคี สมาชิก 14 ประเทศทำให้สินค้าได้คุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ง่ายขึ้น

 

การมีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในแต่ละสินค้าของประเทศสมาชิกที่ช่วยลดความยุ่งยากในกระบวนการผลิตเพื่อส่งออกไปยัง 14 ประเทศ และด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย Self-certification ที่ผู้ประกอบการสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้บนเอกสารทางการค้าหรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แตกต่างจากความตกลงอื่นที่อาเซียนเคยมีกับประเทศคู่เจรจา

 

“กรมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ด้านถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยภายใต้ FTAs พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านการให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ และการยกระดับการบริการต่าง ๆ ของกรมด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTAs ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น” นายพิทักษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง