รฟท. เปิดโต๊ะลงนามก่อสร้าง ไฮสปีดไทย-จีน 5 สัญญา คาดเปิดให้บริการปี’68
วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศรปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา ได้แก่ สัญญา 3-2 บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) สัญญา 3-3 บริษัท ไทย เอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด สัญญา 3-4 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญา 3-5 บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด และ สัญญา 4-7 บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า สำหรับการลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญา ในครั้งนี้ ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการโดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร (กม.) และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กม. สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 26.10 กม. สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ดำเนินการโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ถึง 37.45 กม.
นายนิรุฒ กล่าวว่า สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย) ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กม. และสัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กม. ทั้งนี้การลงนามทั้ง 5 สัญญา มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 101.15 กม. มีวงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 โดยจะมีการก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา
ด้าน นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ รองวิศวกรใหญ่ด้านพัฒนา ฝ่ายการช่างโยธา ร.ฟ.ท. กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการลงนามสัญญาเพิ่มเติมอีก 6 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปากอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 11,386 ล้านบาท สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 8,626 ล้านบาท สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท สัญญา4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน9,913 ล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท เบื้องต้นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.โดยจะเร่งลงนามสัญญาให้ทันภายในเดือนมกราคม 2564
ขณะที่ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการปรับแบบสถานีช่วงอยุธยา เนื่องจากต้องใช้โครงสร้างร่วมตอม่อกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งต้องรอเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบ หากได้ข้อยุติจะเริ่มประกาศประกวดราคา หลังจากที่ลงนามสัญญาทั้ง 6 สัญญา เสร็จสิ้นแล้ว