สาธิต เชื่อส่วนตัว "โอไมครอน" เข้าไทยแล้ว เผย ศบค.จ่อให้ ขรก.เวิร์กฟอร์มโฮมหลังปีใหม่
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังพร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจกระบวนการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ทั้งระบบไม่กักตัว (Test&Go) ระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sand box) และกักตัว (Quarantine) พบว่ามีการจัดระบบเรียบร้อยดี แม้ช่วงแรกที่เปิดประเทศอาจมีปัญหาบ้าง แต่เมื่อดำเนินการมาสักระยะก็เป็นไปด้วยความราบรื่น ขั้นตอนการตรวจสอบ Thailand Pass ใช้เวลาไม่นาน รถรับส่งจากสนามบินไปยังโรงแรมเพื่อตรวจ RT-PCR ได้มาตรฐาน เพียงแต่อนาคตหากผู้โดยสารเข้ามามากขึ้น จึงต้องหารือเพิ่มบุคลากรในการคัดกรองให้คล่องตัวมากขึ้น
นายสาธิต กล่าวว่า ค่อนข้างมั่นใจในระบบคัดกรอง เพราะผู้เดินทางต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีประกันสุขภาพ เมื่อมาถึงไทยต้องตรวจ RT-PCR อีกครั้ง
“อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไร 100% อาจจะมีหลุดได้ แต่เรามีแอพพลิเคชั่นหมอชนะในการติดตาม หากพบการติดเชื้อภายหลัง ทั้งนี้ จะรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าระบบมีความพร้อมอย่างมากที่จะเดินหน้าต่อ เนื่องจากผู้เดินทางเข้าประเทศอย่าง Test&Go มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ขณะที่มาตรการเราเข้มข้น แม้หลายประเทศจะมีสายพันธุ์โอไมครอน แต่ไม่จำเป็นต้องปิดประเทศหรือเพิ่มมาตรการ เพราะบางประเทศอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ที่ปิดน่านฟ้าก็ยังพบโอไมครอนอยู่ดี ทั้งนี้ สายพันธุ์โอไมครอนนั้น เชื่อว่าอย่างไรแล้วประเทศไทยก็ต้องเจอ เชื่อส่วนตัวลึกๆ ว่าเข้ามาประเทศไทยแล้ว เราต้องเจออยู่แล้ว แต่มาตรการที่ดำเนินการอยู่นี้ยังช่วยเฝ้าระวัง ป้องกัน และติดตามผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ยังต้องศึกษาว่าโอไมครอนจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ เบื้องต้นคือ แพร่ระบาดได้เร็ว แต่เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อาจจะเหมือนไข้หวัด เนื่องจากไม่ได้ลงปอด” นายสาธิต กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวต่อไปว่า สธ.ได้เตรียมระบบการดูแลรักษาและยาไว้แล้ว หากไม่มีอาการก็ดูแลรักษาที่บ้าน หากมีอาการเล็กน้อยก็เข้ารักษาโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อัตราครองเตียงยังมีว่าง ทั้งระดับประเทศและ กรุงเทพมหานคร ขณะที่เครือข่ายสถานพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลทหารตำรวจก็มีความพร้อม
“เรามีประสบการณ์เพียงพอที่จะยังเดินหน้ารับนักท่องเที่ยว แต่หากพบว่าโอไมครอนทำมีอาการรุนแรงมากขึ้น เราก็พร้อมที่จะปรับมาตรการรองรับเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่ช่วยป้องกันโอไมครอนคือ การรับวัคซีนควบคู่กับการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 สวมหน้ากาก ต้องช่วยกันเว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ หากเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างดีคู่ขนานกับการเปิดเศรษฐกิจ ทุกคนร่วมมือกันเต็มที่ มีความสุขด้วย เคร่งครัดมาตรการและทำตามวินัยไปด้วย เราจะผ่านไปได้และปีใหม่นี้ก็จะไม่สะดุด ส่วนการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดหลังปีใหม่ ทาง ศบค.ก็ให้ข้าราชการทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด หลังมีการเดินทางช่วงปีใหม่” นายสาธิต กล่าว