หนิงเซี่ยใช้ 'เทคโนโลยีดิจิทัล' อนุรักษ์ภาพวาด-แกะสลักหน้าผาโบราณ
อิ๋นชวน, 4 ม.ค. (ซินหัว) -- เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการอนุรักษ์ภาพวาดและภาพแกะสลักหน้าผาโบราณซึ่งใกล้จะเลือนหายตามกาลเวลา
จางเจี้ยงกั๋ว รองผู้อำนวยการสำนักบริหารภาพวาดหน้าผาภูเขาเฮ่อหลาน ในเมืองอิ๋นชวน เมืองเอกของหนิงเซี่ย ระบุว่าเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ได้สแกนภาพวาดและภาพแกะสลักบนหินที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้มากกว่า 2,000 ชิ้น ที่ภูเขาแห่งนี้ เพื่อนำมาสร้างให้เป็นภาพพาโนรามารวมถึงระบุตำแหน่งที่แม่นยำซึ่งเป็นข้อมูลเชิงดิจิทัล โดยจะมีการจัดประเภทและวิเคราะห์ปัญหาจากข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้อนึ่ง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับภาพวาดและภาพแกะสลักของภูเขาเฮ่อหลานเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2019ภาพแกะสลักหินเหล่านี้มีมาก่อนที่ระบบการเขียนจะถูกคิดค้นขึ้น ปัจจุบันที่เขาเฮ่อหลานนั้นมีการค้นพบภาพวาดและภาพแกะสลักฝีมือชนเผ่าเร่ร่อนที่เคยอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจีนแล้วกว่า 20,000 ชิ้น โดยเป็นภาพเกี่ยวกับการต้อนฝูงสัตว์ การล่าสัตว์ พิธีบูชายัญ และวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อ 3,000-10,000 ปีก่อน และส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์ ตามมาด้วยภาพมนุษย์ ยานพาหนะ พืช ดาวเคราะห์ ลายนิ้วมือ และสัญญะเชิงนามธรรมจางกล่าวว่าพื้นผิวส่วนใหญ่ถูกแกะสลักด้วยหินหรือโลหะ และอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งซึ่งสัมผัสกับอากาศ ทำให้ถูกกัดกร่อนโดยสภาพอากาศและถูกกัดเซาะด้วยน้ำเค็มและด่างการอนุรักษ์ภาพวาดและภาพแกะสลักหินเป็นปัญหาที่พบเจอทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามธรรมชาติที่ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ภาพเลือนหายตามกาลเวลา ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ ภาพวาดบนหินราว 1 ใน 4 ของทั่วโลกจะเลือนหายไปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการเก็บรักษาข้อมูลที่แม่นยำด้วยเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการปกป้องและอนุรักษ์ภาพวาดหินเหล่านี้