รีเซต

สธ.ออกคำแนะนำบูสต์วัคซีนโควิด แนะกลุ่มฉีดเข็ม 4 อย่ารีบ! รอสรุป ม.ค.65

สธ.ออกคำแนะนำบูสต์วัคซีนโควิด แนะกลุ่มฉีดเข็ม 4 อย่ารีบ! รอสรุป ม.ค.65
มติชน
16 ธันวาคม 2564 ( 15:13 )
71
สธ.ออกคำแนะนำบูสต์วัคซีนโควิด แนะกลุ่มฉีดเข็ม 4 อย่ารีบ! รอสรุป ม.ค.65

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ว่า ภาพรวมสถานการณ์โรคโควิด-19 จากที่ประชุมอีโอซี สธ.ล่าสุด รายงานว่า ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อสะสม 272.4 ล้านราย เสียชีวิต 5.3 ล้านราย ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักดูเหมือนจะลดลง โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อใหม่สูง  ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล อังกฤษ และรัสเซีย

 

นพ.วิชาญ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศไทย ล่าสุดพบรายใหม่ 4,531 ราย เสียชีวิต 26 ราย โดยมีแนวโน้มลดลง และผู้ที่มีอาการรุนแรงก็มีทิศทางดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการของไทยในการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธันวาคม 2564 มีคนเดินทางเข้าประเทศรวม 111,303 คน พบผู้ติดเชื้อรวม 210 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.19 แบ่งเป็น ระบบไม่กักตัว (Test and go) 96,113 คน พบผู้ติดเชื้อ 111 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.12 ระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sand Box) 12,197 คน พบผู้ติดเชื้อ 31 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.25 และระบบกักตัว (Quarantine) 2,993 คน พบผู้ติดเชื้อ 68 คน คิดเป็น ร้อยละ 2.27

 

นพ.วิชาญ กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทย สำหรับนโยบายการฉีดเข็มกระตุ้น ประจำเดือนมกราคม 2565 ผ่านมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ขณะนี้ผ่านเข้าที่ประชุมอีโอซี สธ. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม เพื่อออกเป็นนโยบายสั่งการ โดยสรุป คือ

 

1.ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไปให้ใช้สูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือ แอสตร้าฯ 1 เข็มตามด้วยไฟเซอร์ 1 เข็ม หรือ ซิโนแวค 1 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าฯ 1 เข็ม แต่สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม จะขอให้สำหรับกลุ่มอายุ 12-17 ปี เป็นหลัก

 

2.ผู้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ให้เป็นไปตามกำหนดที่ได้นัดหมายไว้

 

3.ผู้ที่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น แบ่งเป็น ผู้ที่รับซิโนแวค+แอสตร้าฯ ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก ผู้ที่รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์เป็นต้นไป ให้กระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก

 

และ 4.ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถฉีดแอสตร้าฯ เป็นเข็มกระตุ้นได้ ทั้งนี้ วัคซีนสูตรอื่นที่ผ่านการรับรองทางวิชาการ สามารถดำเนินการได้ภายใต้จำนวนวัคซีนที่มีในพื้นที่

 

นพ.วิชาญ กล่าวต่อไปว่า ระบบการแจ้งเตือนการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้มีระบบแจ้งกำหนดการฉีดตามแนวทางของ สธ. ซึ่งมีแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ

 

“วันนี้รองปลัด สธ. เรียกประชุมผู้ดูลแลระบบหมอพร้อม หารือถึงแนวทางการแจ้งเตือนคนครบกำหนดรับเข็มกระตุ้นให้ไปรับวัคซีน ใครที่ยังไม่ได้โหลดแอพพ์ฯ “หมอพร้อม” ก็ขอให้ดำเนินการโหลด และลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร นอกจากนี้ ยังแจ้งจังหวัดให้แจ้งเตือนประชาชนฉีดวัคซีนด้วย ขณะที่คนรับวัคซีนผ่านโครงการพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม หรือไทยร่วมใจ ให้ลงทะเบียนผ่านโครงการที่กำหนด ได้มอบจังหวัดเร่งรัดฉีดประชากรทุกสัญชาติให้เข้ารับวัคซีน เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงยาก เช่น ประมง ทุรกันดาร ฯลฯ” นพ.วิชาญ กล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.วิชาญ กล่าวว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้ประสานไปที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการจัดทำแผนความต้องการวัคซีนรายเดือนไปยัง สธ. เพื่อจัดสรรวัคซีนไปฉีดให้ประชาชน ส่วนจังหวัดอื่นๆ สามารถติดต่อข้อมูลได้ที่สำนักงานสาธรณสุขจังหวัด (สสจ.) สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค และช่องทางออนไลน์ สธ.

 

“ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว และถึงเวลาต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอให้รอการแจ้งเตือนจากหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อเข้ารับเข็มกระตุ้น ซึ่งมีกระแสบางคนรีบไปหาวัคซีนมาฉีดเอง ขอเรียนว่า การรีบฉีดโดยที่ระยะเวลาฉีดวัคซีนสั้นเกินไป ก็อาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ เพราะว่า โดยหลักการแล้ว การฉีดวัคซีนควรมีห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตามสูตรวัคซีนตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และ สธ.แนะนำ เป็นช่วงเวลาที่พิจารณาแล้วว่า เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกันและตรงตามสถานการณ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ต้องเร่งฉีดเพื่อให้ครบ 3 เข็ม หรือ ครบ 4 เข็ม แต่ข้อสำคัญให้ดูเรื่องระยะเวลาเป็นสำคัญ” นพ.วิชาญ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ณ ขณะนี้ ประชาชนที่ฉีดครบ 2 โดส ยังไม่ต้องวอล์ก อิน (walk In) เข้าไปขอฉีดเข็มกระตุ้นใช่หรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า ใช่ ขอให้รอเซ็ตระบบแจ้งเตือนก่อน อย่างเช่น หมอพร้อม จะมีการแจ้งเตือน หรือแจ้งเตือนผ่านข้อความสั้น (SMS) ขอให้รอการนัดหมาย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันทั้งระบบ เนื่องจากวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นวัคซีนที่ต้องรู้ก่อนว่า ใครจะฉีด จะได้จัดแผนกระจายจำนวนวัคซีนอย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

นพ.วิชาญ ยังกล่าวอธิบายถึงกรณีมีบางคนไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ว่า เรื่องนี้น่ากังวล เพราะมีบางคนได้เข็มที่ 3 แล้ว แต่รีบไปกระตุ้นเข็มที่ 4 และเมื่อไปดูระยะห่างก็ไม่เหมาะสม

 

“อย่างเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ห่างกันเพียง 1 เดือน กรณีนี้ฉีดเข็มที่ 4 ไปก็แทบไม่มีประโยชน์ เพราะเหมือนไปฉีดเข็มที่ 3 ดังนั้น ความสำคัญของการฉีดวัคซีน ต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเราดูระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งขอบคุณคณาอาจารย์ที่มีการติดตามตลอด และมีคำแนะนำว่า กี่เดือนภูมิคุ้มกันจะตก ต้องฉีดกระตุ้น หลักการของการฉีดวัคซีน จึงต้องฉีดวัคซีนให้เหมาะสม เร็วไปไม่ดี ช้าไปไม่ดี จึงขอให้ฟังข้อมูลทางวิชาการเพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่” นพ.วิชาญ กล่าวย้ำ

 

ต่อข้อถามว่า เมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ของคนฉีดเข็มที่ 3 ณ ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาฉีดเข็มที่ 4 ใช่หรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า ใช่ โดยเข็มที่ 4 จะมีคณะกรรมการฯ พิจารณาในเดือนมกราคม 2565 ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งจะมีการพิจารณาไปถึงวัคซีนสำหรับเด็กด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง