รีเซต

เช็ก! ความพร้อม กทม.รับมือผู้ป่วยโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์

เช็ก! ความพร้อม กทม.รับมือผู้ป่วยโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์
มติชน
19 เมษายน 2565 ( 15:36 )
62
เช็ก! ความพร้อม กทม.รับมือผู้ป่วยโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์

วันนี้ (19 เมษายน 2565) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้มีการส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ภาคราชการ เอกชน โดยเฉพาะผู้ที่ร่วมกิจกรรมและเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการของตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างใกล้ชิด ในช่วง 7 วันหลังเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 18-24 เมษายน 2565 รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของร้านค้า สถานประกอบการ ให้เตรียมความพร้อมมาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการและแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ภายหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

นายขจิต กล่าวว่า โดยเมื่อเดินทางกลับมาจากเทศกาลสงกรานต์ เพื่อความไม่ประมาทประชาชนควรตรวจคัดกรองตนเองก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น ตรวจด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR ซึ่งหากมีผลบวก จะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที เฝ้าระวังอาการตนเองเมื่อเดินทางกลับมาจากเทศกาลสงกรานต์ เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าวให้เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองตนเองด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR หากผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ ช่วงสังเกตอาการให้เลี่ยงพบผู้คน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และใช้มาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในช่วง 7 วันหลังกลับจากต่างจังหวัด

 

“หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อ ให้ใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาหากผลติดเชื้อ และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ไปยังคนรอบข้าง” นายขจิต กล่าว

ปลัด กทม.กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มีดังนี้

1. มีไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไปไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว

2. มีประวัติอาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดหรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วัน

3.ช่วง 2-3 วัน ก่อนมีอาการ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ที่เป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายหรือผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19

 

ทั้งนี้ นายขจิต กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ร่วมกับ สำนักอนามัย สำนักงานเขต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ กทม. ผ่านไลน์ @BKKCOVID19CONNECT ได้ ซึ่งจะมีทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษา แนะนำให้เข้าระบบการรักษา HI และส่งต่อเข้ารับการรักษา CI และหากมีอาการรุนแรง ศูนย์เอราวัณจะประสานและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) สนาม รพ.หลัก ตามระดับความรุนแรงต่อไป

 

“ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง หรือโดยการประเมินจากเภสัชกรประจำร้านยา ซึ่งจะเป็นผู้ซักถามข้อมูลความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 โดยช่องทางการรับชุดตรวจ ATK สามารถรับได้ที่ร้านขายยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นกว่า 2,000 แห่ง โดยสังเกตป้ายหน้าร้านที่ติดตามรูปภาพแนบ หรือลงทะเบียนผ่านแอพพ์ฯ เป๋าตัง หลักเกณฑ์การรับชุดตรวจ ATK นั้น ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถรับชุดตรวจ ATK ฟรี คนละ 2 ชุดต่อครั้ง และให้นำชุดตรวจ ATK ที่ได้รับมาตรวจหาเชื้อทันที พร้อมให้บันทึกผลการตรวจในระบบในแอพพ์ฯ โดยกรณีที่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำ สามารถขอรับชุดตรวจ ATK เพิ่มเติมได้โดยเว้นช่วงระยะเวลาห่างกัน 10-14 วันากไม่ลงผล ATK จากการตรวจรอบแรกในแอพพ์ฯ เป๋าตัง จะไม่สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ในครั้งต่อไปได้” นายชจิต กล่าว

 

ปลัด กทม.กล่าวว่า สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมแจกชุดตรวจ ATK ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/197 กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน สามารถ โทร.1330 กด 17 เพื่อตรวจสอบข้อมูลหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ และเดินทางไปที่หน่วยบริการพร้อมบัตรประชาชน/สูติบัตร เพื่อให้ตัวแทนหน่วยบริการทำประเมินความเสี่ยงให้ หรือรับบริการตรวจ ATK ได้ที่คลินิก ARI ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง และ รพ.ในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ติดตามเฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลดังกล่าวประชาสัมพันธ์ไปยังประธานชุมชนและประชาชนในชุมชนต่างๆ ด้วย

 

นอกจากนี้ นายขจิต กล่าวว่า ยังบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ และภาคเอกชน เปิดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้บริการแบบ Drive Thru 2 แห่ง คือ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน และ วิคตอเรีย การ์เด้นส์ เขตบางแค และ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. อีกทั้ง 11 แห่ง ผ่านการลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า หรือติดต่อสอบถามได้ที่ รพ.กลาง โทร.0 2220 8000 รพ.ตากสิน โทร.0 2328 6760 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.0 2289 7986 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ โทร.0 2429 3258 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.0 2543 2090 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.0 2327 3049 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.0 2444 3900 ต่อ 8878 รพ.สิรินธร โทร.0 2328 6760 รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน โทร.0 2452 7999 รพ.คลองสามวา โทร.09 4998 8807 และ รพ.บางนากรุงเทพมหานคร โทร.0 2180 0201-3 ต่อ 103, 104

นายขจิต ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้นภายหลังเทศกาลสงกรานต์ ทั้งในส่วนของ รพ.หลัก รพ.สนาม และ ฮอสปิเทล (Hospitel) รวมจำนวน 3,500 เตียง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักคอยที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 5,500 เตียง อีกทั้งยังมีการดำเนินการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และ COVID Self Isolation ที่ดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมพร้อมสำรองยา และเวชภัณฑ์ให้มีความเพียงพอ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้ป่วยช่วงหลังสงกรานต์ โดยบูรณาการ รพ.ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกสังกัด ทั้ง รพ.สังกัด กทม. รพ.รัฐ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย และ รพ.เอกชน มีศักยภาพเตียงเพียงพอรับได้ ในส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือสีเหลือง มี CI ที่เตรียมไว้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

“การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยยังได้รับการรักษาฟรีทุกราย โดยแบ่งตามกลุ่มระดับอาการ ผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เข้ารับการรักษาได้ฟรีใน รพ.ตามสิทธิ ได้แก่ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม โดยกักตัวที่บ้าน (HI) กักตัวในชุมชน (CI) ฮอสปิเทล หรือเข้าโครงการ “เจอ แจก จบ” ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ผู้ป่วยสีเหลือง มีอาการแน่นหน้าอกหายใจลำบาก ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน กลุ่ม 608 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ และรักษาฟรีกับยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) ได้ทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ป่วยสีแดง มีอาการหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค หายใจเจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง ค่าออกซิเจนน้อยกว่า ร้อยละ 94 กลุ่มนี้เข้ารับรักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ และรักษาฟรีกับยูเซ็ป พลัส ได้ทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทั้ง 3 กลุ่ม สามารถติดต่อ ศูนย์เอราวัณ 1669 สปสช.1330 กด 14 สบส.1426 ยูเซ็ป พลัส 0 2872 1669

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง