รีเซต

ตุลาฯอันตราย! แบงก์ชาติสั่งแบงก์พาณิชย์งดจ่ายปันผล งดซื้อหุ้นคืน ส่งสัญญาณศก.น่าห่วง

ตุลาฯอันตราย! แบงก์ชาติสั่งแบงก์พาณิชย์งดจ่ายปันผล งดซื้อหุ้นคืน ส่งสัญญาณศก.น่าห่วง
มติชน
21 มิถุนายน 2563 ( 08:16 )
113

 

จับตาตุลาฯอันตราย หลังธปท.มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน สะท้อนให้เห็นว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจน่าเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้น เตือนต.ค.เห็นตัวเลขหนี้เสียทั้งระบบ วัดใจรัฐบาลมีเงินเหลือพอที่จะอัดฉีดรอบใหม่หรือไม่

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล ระบุว่า คำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลและห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน (ลดทุน) เป็นสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสียว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฎ

 

ถามว่าทำไมต้องออกคำสั่งแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะนายแบงค์พาณิชย์ต้องการคำสั่งเป็นเกราะกำบังจากความไม่พอใจของนักลงทุนที่รอรับเงินปันผล ช่วงหลังหลายคนเข้าไปซื้อหุ้นเพราะราคาลดลงมาก ด้วยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ วันจันทร์นี้คาดว่าหุ้นธนาคารมีโอกาสสูงที่จะปรับลงแรง และผลกระทบต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจจะต้องมีอย่างแน่นอน

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า กรณีธปท.มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน สะท้อนให้เห็นว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจจากนี้ไปยังน่าเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกจึงใช้มาตรการเดียวกันคืออัดฉีดเงินก้อนใหญ่มหาศาลเข้าระบบเศรษฐกิจ ทั้งการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน การออกโซฟท์โลนช่วยเหลือภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อแจกเงินช่วยเหลือผู้ที่ตกงาน ซึ่งแจกไปแล้วรวม 3 เดือน และออกซอฟท์โลนช่วยเหลือธุรกิจ

 

รวมถึงพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงทำให้คาดการณ์กันว่าในช่วงไตรมาส 2 ความเสียด้านเศรษฐกิจจะยังไม่เห็นชัดเจน แต่จะเริ่มเห็นความชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่นโยบายช่วยเหลือต่างๆเริ่มสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งนี้มีการประเมินว่าในช่วงเดือนตุลาคมจะเห็นความชัดเจนว่าหนี้เสียทั้งระบบจะมีเพิ่มขึ้นประมาณเท่าไร ถึงตอนนั้น รัฐบาลยังมีเงินเหลือพอที่จะอัดฉีดรอบใหม่หรือไม่

 

สำหรับประเทศไทยรายได้หลักพึ่งพาอยู่ 2 ภาคธุรกิจ คือภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวไทย “ต้องถือเป็นความโชคร้ายของประเทศไทยที่พึ่งพิงภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว จึงเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดครั้งนี้เต็มๆ หากเทียบปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือต้มยำกุ้ง ครั้งนั้นเกิดผลกระทบจากฟองสบู่แตกใน 2 ภาค คือภาคการธนาคาร และภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายจำกัดเฉพาะ 2 ส่วน จีดีพีหรืออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ติดลบพอๆกับการเกิดโควิดครั้งนี้

 

แต่ครั้งนั้นไทยฟื้นตัวได้เร็วมาก เพราะภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวเรายังไปได้ดี แต่ครั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวจนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ในระยะเวลาไม่นาน แต่เศรษฐกิจทั้งโลกยังมีปัญหากับโควิดที่ยังระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าที่คาด ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่านั้น คาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปีกว่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง