รีเซต

บิ๊กเมาน์เท่นยิ่งกว่าสนามมวย 10 เท่า สธ.แนะจัดปีใหม่แบ่งกลุ่มเล็ก งัดกม.เหล้าคุมคนเมา

บิ๊กเมาน์เท่นยิ่งกว่าสนามมวย 10 เท่า สธ.แนะจัดปีใหม่แบ่งกลุ่มเล็ก งัดกม.เหล้าคุมคนเมา
มติชน
15 ธันวาคม 2563 ( 14:00 )
103

วันนี้ (15 ธันวาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ระบาดแม้แต่พื้นที่เดียว ยืนยันว่าสามารถจัดกิจกรรมได้ แต่จะต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการตามกฎหมายหลายฉบับ

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนมาตรการเพิ่มเติมทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาตรการ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นผู้ดูแลและควบคุมกิจกรรม โดยสามารถจัดกิจกรรมทุกอย่างได้ตามปกติ แต่จะต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นๆ เช่นหากจะต้องมีการเปิดเครื่องขยายเสียง จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกระจายเสียง ส่วนมาตรการทางสาธารณสุขจะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงและลดโอกาสแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป

 

“การจัดงานประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ผู้จัดงาน ต้องพยายามจัดงานในสถานที่ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคใดมากที่สุด มีการเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด ทำความสะอาดในพื้นผิวสัมผัสร่วม คัดกรองผู้เข้างานอย่างเป็นระเบียบตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดจุดบริการล้างมือ กำชับให้ผู้ร่วมงานสวมหน้ากากอนามัย และที่สำคัญคือ จะต้องมีผู้กำกับแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ในการจัดงาน” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นไทยชนะ เพื่อให้ สธ. แจ้งข้อมูลไปยังประชาชนโดยตรงป้องกันความสับสน และที่สำคัญคือ เมื่อกลับจากการร่วมกิจกรรมแล้วจะต้องสังเกตอาการตนเองว่ามีอาการทางระบบทางเดินหายใจหรือไม่ หากพบอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รสให้รีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนที่ 3 เจ้าหน้าที่ ดูแลมาตรการฝ่ายปกครองและสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบกิจกรรมที่จัดงานว่ามีความเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ หากไม่เหมาะสมก็จะต้องแจ้งให้ผู้จัดปรับปรุงแก้ไข โดยตัวอย่างที่ดีของการจัดกิจกรรมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรี โดยมีจุดคัดกรอง ลงทะเบียนไทยชนะ จัดที่นั่งห่างกัน 2 เมตร และไม่มีการไปยืนหน้าเวทีมากจนเกินไป จัดแบ่งพื้นที่จำหน่ายอาหาร

 

“การจัดงานในช่วงเทศกาลปีใหม่สามารถทำได้ กิจกรรมที่มีเวทีการแสดง จะต้องจัดคนให้รวมกันเป็นกลุ่มไม่ปะปนกัน ยกตัวอย่างเช่น อาจแบ่งกลุ่มไม่เกิน 10 คน ใช้พื้นที่ 2 ตารางเมตร (ตรม.) ต่อ 1 คน และระยะห่างระหว่างแถวกว้าง 3 เมตร (ม.) เพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้น หากเกิดปัญหาหรือมีอะไรเกิดขึ้น เราจะได้ดูแลเป็นกลุ่มๆ ไปอย่างง่ายดาย เช่น เทศกาลดนตรีฟาร์มเฟส ที่ จ.เชียงราย ที่มีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ เมื่อพบว่าผู้ติดเชื้อไปที่จุดใด การควบคุมโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) การที่จะกักใครก็จะลดน้อยลง ไม่ต้องกักทั้งงาน เราก็จะกักเฉพาะกลุ่ม จึงขอยืนยันว่าจัดงานได้และต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบ และผู้จัดงาน ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ร่วมมือกันทำให้งานสำเร็จ” นพ.โอภาส กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงปีใหม่นี้จะมีมาตรการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่2/2563 โดยกรมควบคุมโรค เสนอแผนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ภายใต้แนวคิด “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” โดยจะเน้นในการใช้ 2 มาตรการหลัก คือ 1.ให้ความรู้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการทดสอบอาการมึนเมาอย่างง่าย

 

“โดยจะเริ่มในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ อสม. ช่วยสอดส่องคนในชุมชน 2.การใช้มาตรการทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเน้นย้ำในเรื่องของการไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และไม่จำหน่ายให้แก่ผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ เพื่อส่งเสริมการลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีใหม่ 2564 และลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 ดังนั้น หากพบเยาวชนหรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมาไปเกิดอุบัติเหตุ จะมีการสอบย้อนศร คือการตรวจสอบว่า ร้านค้าใดเป็นผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายเอาผิดร้านค้าต่อไป ซึ่งโดยหลักๆ จะเน้นใช้ใน 2 มาตรการนี้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

 

เมื่อถามว่า มีการแชร์ข้อความพร้อมภาพโดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดงานดนตรีอื่นๆ จึงสามารถจัดได้ นพ.โอกาส กล่าวว่า การจัดกิจกรรม ขอย้ำว่าทำได้ ตัวอย่างดีๆ ก็มี จริงๆ ตัวอย่างที่ทำดีๆ ทำได้ เราสนับสนุน ให้ทำด้วย

 

“แต่กรณีบิ๊กเมาน์เท่นถูกผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสั่งปิดนั้น ก็เห็นว่าคนแออัดมาก สแกนไทยชนะวันนั้นวันเดียวก็ 3 หมื่นคน แล้วเมื่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลงไปตรวจสอบ ขอให้แก้ไขก็บอกว่าแก้ไม่ได้ จะเห็นว่าครบถ้วนคือ 1.แก้ปัญหาไม่ได้  2.คนแออัด อย่างนี้ความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคเป็นไปได้อย่างสูง นึกภาพว่า หากมีการกระจายไป ซึ่งคนร่วมงานมาจากทั่วประเทศ แล้วกลับไปทั่วประเทศ ผมคิดว่าอันนี้ยิ่งกว่า สนามมวยลุมพินี 10 เท่า แล้วสนามมวยลุมพินีคนก็หลักพันถึงต้นๆ หมื่น ส่วนอันนี้คนร่วมงาน 4-5 หมื่น คิดดูว่าจะกระจายกันขนาดไหน หากไม่ป้องกันไว้ก่อน ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา ผมคิดว่าป้องกันไม่ทันแน่นอน” นพ.โอภาส กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง