รีเซต

กกร.ห่วงลอยแพแรงงานเกลื่อน! เศรษฐกิจครึ่งหลังยังเปราะบาง เงินบาทผันผวนรับศึกการเมืองในประเทศ

กกร.ห่วงลอยแพแรงงานเกลื่อน! เศรษฐกิจครึ่งหลังยังเปราะบาง เงินบาทผันผวนรับศึกการเมืองในประเทศ
ข่าวสด
9 กันยายน 2563 ( 15:27 )
35
กกร.ห่วงลอยแพแรงงานเกลื่อน! เศรษฐกิจครึ่งหลังยังเปราะบาง เงินบาทผันผวนรับศึกการเมืองในประเทศ

 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ห่วงลอยแพแรงงานเกลื่อน ชี้เศรษฐกิจครึ่งหลังยังเปราะบาง เงินบาทผันผวนรับศึกการเมืองในประเทศ

กกร.ห่วงลอยแพแรงงาน - นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แม้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน รวมถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่น่าเป็นห่วง เห็นได้จากสิ้นไตรมาส 2/2563 มีผู้ว่างงานทั้งหมดแล้วกว่า 7 แสนคน และยังมีผู้มีงานประจำแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562

 

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังคงเปราะบางสูงจากความไม่แน่นอนรอบด้านที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุน การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอุปสรรคอยู่มาก ประกอบกับในช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลต่อเนื่องและจะเกินดุลเพิ่มหากมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาผ่านมาตรการเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางกับประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 (Travel Bubble)

 

“เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยเสี่ยงที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงิน การเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (Risk-On sentiment) ในตลาดหุ้นสหรัฐที่ไม่อิงกับปัจจัยพื้นฐาน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และยังต้องยอมรับว่าตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศด้วย”

 

นายผยง กล่าวว่า กกร. จึงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังหดตัวต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเสียแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองซ้ำในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นตัน ทำให้แรงขับเคลื่อนของการฟื้นตัวเหลือแค่เศรษฐกิจสหรัฐและจีนเป็นหลัก

 

โดย กกร. ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ทั้งปีอาจหดตัวในกรอบ -9% ถึง -7% การส่งออกอาจหดตัวในกรอบ -12% ถึง -10% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1% ภายใต้สมมติฐานที่จะไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าทั้งสหรัฐและจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. 2563 หดตัวน้อยลง ต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาว รวมถึงการคลายล็อกกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ก็ตาม

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอมรับภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำระลอก 2 และการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ อาจส่งผล กระทบกับต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว แต่ส่วนตัวก็เห็นด้วยกับภูเก็ตโมเดลที่ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ในไทย โดยเสนอให้ทำวีซ่าเฉพาะเพื่อสามารถตรวจสอบได้ ส่วนระยะเวลาหมดอายุให้เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม กกร. มีข้อเสนอต่อภาครัฐให้เร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนโครงการต่างๆ ให้กับภาคเอกชนที่รับงานแล้วภายใน 30 วัน จากเดิมที่ล่าช้าถึง 2-4 เดือน

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง