รีเซต

สมาคมรับ โรค ASF ระบาดตั้งแต่ปี 62 ทำหมูหายจากระบบ หลานล้านตัว

สมาคมรับ โรค ASF ระบาดตั้งแต่ปี 62 ทำหมูหายจากระบบ หลานล้านตัว
ข่าวสด
10 มกราคม 2565 ( 14:58 )
53
สมาคมรับ โรค ASF ระบาดตั้งแต่ปี 62 ทำหมูหายจากระบบ หลานล้านตัว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ปัญหาโรค อหิวาต์แอฟริกา ระบาดตั้งแต่ปี 62 ทำให้หมูหายจากวงจรเกินครึ่ง ร้องรัฐห้ามนำเข้าสุกรต่างประเทศ

 

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่โรงแรมสการ์เลท จ.นครศรีธรรมราช นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยหลังประชุม ร่วมกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรจ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับปัญหาสุกรขาดตลาด

 

นายโสภณ พรหมแก้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมากำลังการผลิตถดถอยเพราะแม่สุกรได้รับความเสียหายมาก และลูกสุกร ก็หายไปจากการผลิต จึงทำให้สุกรมีจำนวนไม่พอเพียงในการส่งเข้าตลาด ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดไม่ใช่เฉพาะภาคใต้แต่เป็นทั้งประเทศ

 

ดังนั้นในที่ประชุมสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เราสรุปกันว่า เราจะไม่ขึ้นราคาสุกรมีชีวิต โดยจะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน กก.ละ110 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้ เพราะไม่อยากเป็นโจทย์ของสังคมว่า หมูแพงแล้วไข่แพงไก่แพงตามไปด้วย เพราะสาเหตุมาจากสุกรราคาสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่ 2 คือโรคระบาด คนในวงจรการผลิตก็ได้รับความเสียหาย บางรายต้องเลิกเลี้ยงไป

 

โอกาสนี้ตนคิดว่าในภาพรวมของการประชุมใหญ่ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรต่อไป ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะกลับมาปกติ และที่สำคัญต้องไม่ให้ภาครัฐนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามา หากนำเข้ามาต้องเปิดเผยจำนวน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคไม่เดือดร้อน

 

"เราก็ได้มีการพูดคุยกันนะครับว่าในส่วนของสุกรขุนที่ที่มีชีวิตตอนนี้มันต้องมีการสับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของนครศรีธรรมราชภาคใต้ นำขึ้นไปสู่ภาคกลาง 7,500 ตัว โดยมีของบริษัทซีพี 4,000 ตัว เบทาโกร 3,500 ตัว เพื่อจะไปทดแทนในส่วนที่เยียวยาผู้บริโภคในส่วนของภาคกลาง

 

คือในลักษณะอย่างนี้นะครับเราต้องฟื้นฟูเกษตรกรขึ้นมา พี่น้องที่เคยเลี้ยงหมูที่หายไปจากวงจรต้องกลับมาโดยรอช่วงเวลา ให้มีการปรับเรื่องของวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่ซ้ำซ้อนอย่าให้เกิดความเสียหาย" นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช ระบุ

 

นายโสภณ กล่าวต่อว่า หากภาครัฐจำเป็นต้องนำหมูจากต่างประเทศเข้ามา ภาครัฐก็ต้องจ่ายเงินเยียวยาหรือสนับสนุนผู้เลี้ยงรายย่อยให้กลับเข้ามา ภาคใต้มีเกษตรกรเดิมถึง 20,000 ราย ซึ่งหายไปพอสมควร ตนเชื่อว่าเกษตรกรภาคใต้อยากกลับมา หวังว่าภาครัฐควรรับฟังประเด็นที่นำเสนอไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการพูดถึงเรื่องปัญหาโรคระบาด เอเอสเอฟ ซึ่งผู้เลี้ยงประสบมาตั้งแต่เดือนเมษายน 62 ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจรจาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ลูกสุกร 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว ซึ่งโอกาสที่หมูในประเทศจะเหลือแค่ 20% เป็นไปได้ หากเปิดประเทศคงไม่พอแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง