รีเซต

สธ.ยินดีทบทวนลดวันกักตัวหาเชื้อโควิด-19 แต่ต้องปลอดภัยกับคนไทย

สธ.ยินดีทบทวนลดวันกักตัวหาเชื้อโควิด-19 แต่ต้องปลอดภัยกับคนไทย
มติชน
30 กันยายน 2563 ( 16:55 )
172
สธ.ยินดีทบทวนลดวันกักตัวหาเชื้อโควิด-19 แต่ต้องปลอดภัยกับคนไทย

 

กรณีนักวิชาการเสนอให้เจาะเลือดผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และนำผลไปประกอบการพิจารณาลดวันกักกันโรคนั้น

 

วันนี้ (30 กันยายน 2563) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และแนวทางพิจารณาลดเวลากักกันโรคที่น้อยกว่า 14 วัน ว่า ล่าสุดที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อนุญาตให้คน 6 กลุ่ม เดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตราที่เข้มแข็งเช่นเดิม และทุกคนต้องเข้ากักกันโรค 14 วัน คำถามที่มักเจอและมีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่ากักกันโรค 14 วัน นั้นไม่เพียงพอ แต่ความจริงแล้วเมื่อพ้นการกักกัน 14 วันแล้วยังไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อเลย ที่ผ่านมา อาจมีความสับสนว่า หลังจาก 14 วันแล้ว ตรวจพบเชื้อ ย้ำว่าการตรวจพบเชื้อ กับการติดเชื้อ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการกักตัว 14 วัน สามารถป้องกันได้

 

 

“หากเกิดติดเชื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว จะพบเชื้อในลำคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้นานเฉลี่ย 17 วัน บางรายก็นานกว่านั้น เช่น ผู้ป่วยรุนแรง ผู้สูงอายุ ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งนานที่สุดที่มีการรายงานคือ 83 วัน โดยนับตั้งแต่วันที่เจอเชื้อวันแรก หรือวันที่มีอาการป่วย ก็จะสามารถตรวจเจอเชื้อได้นานถึง 83 วัน ที่ผ่านมา ผู้ผ่านการกักตัวแล้ว ไม่มีใครที่ติดเชื้อแล้วเดินเข้ามาในประเทศได้ ที่ผ่านมาที่เราเจอคือเคยติดเชื้อมาก่อนและผ่านการกักกันตัวแล้วไปตรวจเจอ ปรากฎว่าเจอเชื้ออีกครั้ง ตรงนี้ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่แต่เป็นการตรวจเจอเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยเชื้อพวกนี้ไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อในลำคอจะตรวจพบได้ก่อนมีอาการป่วย โดยเชื้อจะมากที่สุดใน 2-3 วัน หลังมีอาการ หลังจากนั้นปริมาณเชื้อในลำคอจะน้อยลง และหลังจากวันที่ 17 โอกาสเจอเชื้อก็จะน้อยลง แต่จะมีคนส่วนน้อยที่ตรวจเจอเชื้อได้นานถึง 80-90 วันได้ ดังนั้น หากผู้เคยติดเชื้อมาก่อน บางวันอาจตรวจพบหรือไม่พบเชื้อก็ได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวพบได้บ่อยครั้ง แต่การตรวจเจอเชื้ออีกครั้งไม่ได้แปลว่าจะสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

 

“มีการวิจัยพบว่า เชื้อที่มีชีวิต หากตรวจด้วยวิธี RT-PCR จะพบเชื้อใน 2-3 วันหลังมีอาการ และหลังจากวันที่ 10 ไปแล้วมีโอกาสสูงมากที่จะตรวจพบเชื้อตายหรือซากเชื้อ ดังนั้น ตรวจด้วย RT-PCT อย่างเดียวไม่สามารถตอบได้ว่าเชื้อที่เจอจะแพร่โรคได้หรือไม่ โดยวิธีการตอบว่าผู้ที่มีผลการตรวจ RT-PCR แล้วให้ผลบวกจะแพร่เชื้อได้หรือไม่ สามารถใช้การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 ทั้ง IgM และ IgG ที่จะเกิดขึ้นในร่างกายในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 1 และต้นสัปดาห์ที่ 2 หลังจากเริ่มมีอาการ หากเราตรวจเจอเชื้อในลำคอด้วยวิธี RT-PCR เป็นบวกจริง แต่ไม่เจอภูมิคุ้มกัน ก็แสดงว่าน่าจะเพิ่งติดเชื้อมาใหม่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ของโลกที่มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก โอกาสที่เราจะเริ่มพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อและรักษาหายมาซักพักหนึ่งแล้ว เดินทางเข้าประเทศจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น การตรวจเจอว่าผู้เดินทางมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก นาทีนี้จะตอบยากว่า โควิด-19 ที่เจอในคอของเขาจะแพร่โรคได้หรือไม่ จึงจะต้องตรวจหาภูมิคุ้มกันเสริมเข้าไปด้วย

 

“ย้ำว่าการกักกันตัว 14 วัน เพียงพอ และยังไม่เคยมีรายงานว่าเจอผู้ป่วยหลังจาก 14 วันที่กักกันตัวแล้ว สามารถเข้ามาแพร่โรคได้ในประเทศใดๆ เราทำงานตามความรู้ที่มี ซึ่งตอนนี้เรารู้ว่า 14 วันเพียงพอ เราก็จะไม่กังวลว่าเพียงพอหรือไม่ จนกว่าจะมีหลักฐานมาหักล้างว่า 14 วันไม่เพียงพอ และการตรวจเจอเชื้อในผู้ป่วยที่มีประวัติการติดเชื้อมาก่อน ไม่ได้แปลว่าเขาติดเชื้อใหม่ ต้องดูจากข้อมูลหลากหลาย ถึงบอกได้ว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด และการตรวจเจอเชื้อในผู้ที่เคยผ่านการกักกันมาแล้ว 14 วัน ไม่ได้แปลว่าเป็นการติดเชื้อรายใหม่ทุกครั้งไป” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

ในส่วนของการพิจารณาลดการกักกันโรคที่น้อยกว่า 14 วัน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทางทีมวิชาการกำลังดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหากนำมาใช้ก็จะใช้เพื่อประโยชน์ของและปลอดภัยกับคนไทยมากที่สุด เช่น ผู้เดินทางจากพื้นที่ที่ไม่มีผู้ป่วยในประเทศเข้ามายังประเทศที่ไม่มีผู้ป่วยเหมือนกัน โอกาสต่ำมากที่จะนำโรคเข้ามา ดังนั้น ในการพิจารณาจะต้องดูความเสี่ยงภาพรวม และดูว่าหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น เราจะสามารถจัดการได้ดีแค่ไหน

 

“การวางแผนในระยะต่อไป ไม่ได้พิจารณาประเด็นใดประเด็นเดียว แต่พิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ความเสี่ยงประเทศต้นทาง วิธีการที่จะกักกันตัว และหลังจาก 7 วันแล้วเราสามารถให้เขาทำอะไรได้บ้าง ไม่ให้ทำอะไรบ้าว แต่ไม่ใช่ว่าหลัง 7 วันแล้วเขาจะมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในกรุงเทพได้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เราจะผ่อนคลายระดับหนึ่งที่ไม่เสี่ยงกับคนไทย และขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศได้บ้างระดับหนึ่ง สธ.ยินดีสนับสนุนการเปิดประเทศ และเปิดเศรษฐกิจที่กว้างขวางขึ้น ค่อยๆ ก้าวไปอย่างมั่นคงและปลอดภัย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง