'หมอยง' โพสต์ ข้อดี-ข้อเสีย 6 วัคซีน โควิด-19
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan”
โควิด-19 วัคซีน
แนวทางพัฒนา ข้อดี ข้อเสีย ของวัคซีน โควิด-19
โควิด-19 วัคซีน เมื่อแบ่งเป็นชนิดวัคซีน มี
1.ชนิดเชื้อตาย
มีการผลิตโดยประเทศจีน เป็นวิธีการพัฒนาวัคซีนแบบดั้งเดิมในการทำวัคซีนในอดีต เช่นวัคซีนตับอักเสบ เอ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนโควิดเชื้อตายต้องอาศัยการเพาะเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แล้วมาทำลายฤทธิ์ให้ตาย การเพาะเชื้อจำนวนมาก ต้องอาศัยสถานที่โรงงาน ต้องมีความปลอดภัยสูง ผลิตจำนวนมาก จะมีข้อจำกัด ราคาจะแพงแน่นอน ความปลอดภัยคือรู้แน่ว่าไวรัสที่อยู่ในวัคซีนไม่ก่อโรค สามารถให้ได้แม้กระทั่งคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เพราะเป็นเชื้อตายไม่ก่อโรค ปัจจุบัน วัคซีนนี้ ของบริษัท Sinopharm ได้ทำการศึกษาที่ประเทศ UAE มีประสิทธิภาพในการป้องกันถึงร้อยละ 86 เป็นตัวเลขที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง มีการใช้ในประเทศจีน และได้รับการขึ้นทะเบียนใน UAE แล้ว
2. ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ
คงยาก เพราะเป็นเชื้ออุบัติใหม่ กลไกต่าง ๆ ยังไม่รู้ที่จะทำให้อ่อนฤทธิ์ได้
3.โปรตีนแอนติเจน
ได้จากการสร้างโปรตีนโดยเฉพาะส่วนที่เป็นหนามแหลมยื่นจากตัวไวรัส ที่เรียกว่า spike โดยสามารถให้สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น (recombinant protein) เช่นให้แบคทีเรีย ยีสต์ หรือแม้กระทั้ง พืช เช่น ยาสูบ มีการทำวัคซีนและใช้ในมนุษย์ ในขบวนการดังกล่าว เช่น วัคซีนตับอักเสบ บี แต่ วัคซีนโควิด อุปสรรค ที่จะเกิดขึ้น คือการใช้ adjuvant (สารเสริมให้กระตุ้นภูมิต้านทาน) ที่ดี ที่จะทำให้ภูมิต้านทานสูง จะอยู่ในลิขสิทธิ์ของบริษัทยายักษ์ใหญ่ จะมีอุปสรรคเรื่องขบวนการ formulation และ adjuvant มีการศึกษาโดยบริษัทวัคซีนขนาดใหญ่อยู่ขณะนี้ ที่เป็นเจ้าของ adjuvant
4.ไวรัสเวคเตอร์
การใส่ยีนส์ของไวรัส เฉพาะส่วนกระตุ้นภูมิต้านทาน ใส่เข้าไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ วัคซีนดังกล่าวมีการผลิต และศึกษาในมนุษย์แล้ว เช่น วัคซีนอีโบลา มีการศึกษาวิจัยอยู่
วัคซีนโควิด-19 ที่เราได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นของ AstraZeneca-Oxford วัคซีนของจีน เราก็จะได้ยินบ่อย ข้อดีคือการผลิตได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว ที่จะทำให้ราคาถูกลง และการเก็บใช้อุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา เช่นวัคซีนที่ใช้ในเด็ก ประสิทธิภาพที่รายงานออกมายังคงเป็นการรายงานเบื้องต้น คงต้องรอรายงานเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษา
5. DNA วัคซีน
มีการศึกษากับมานานกว่า 20 ปี ผลกระตุ้นภูมิต้านทานได้ต่ำ มีกลุ่มวิจัยหลายกลุ่มศึกษา DNAวัคซีนของโควิดอยู่ เพราะ DNA ค่อนข้างมีสภาพคงทน ในการเก็บรักษาได้ง่ายและผลิตจำนวนมากได้รวดเร็ว
6. mRNA วัคซีน
เราได้ยินมากคือวัคซีน ของ บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer)ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) และวัคซีนของ Moderna โดย mRNA เมื่อเข้าเซลล์ของมนุษย์จะสร้างโปรตีนตามรูปแบบ mRNA ที่กำหนดออกมา กระตุ้นภูมิต้านทาน วัคซีนดังกล่าวกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้สูง ดังที่ได้เป็นข่าว ในอดีตยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการนี้ ใช้ในมนุษย์มาก่อน วัคซีนในกลุ่มนี้ จึงจะเป็นวัคซีนแรกที่ใช้ในมนุษย์ RNA ค่อนข้างสลายง่าย การนำเข้าร่างกายต้องถูกหุ้มด้วย nanolipid เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยโรงงานมาตรฐาน และเทคโนโลยี วัคซีนดังกล่าวถึงแม้จะผลิตได้จำนวนมาก ง่าย แต่ ขึ้นตอนการให้คงสภาพ จำเป็นต้องอาศัยอุณหภูมิที่เย็นจัด -20 องศา ถึง -70 องศา การนำไปใช้ขบวนการขนส่ง จึงเป็นปัญหามาก
เนื่องจากวัคซีนนี้ (mRNA) ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน กระบวนการขึ้นทะเบียนในภาวะปกติจะช้าอย่างแน่นอนเพราะจะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ในปัจจุบันจึงมีการขอขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน
สำหรับใครจะเลือกวัคซีนอะไรก็ลองพิจารณาดู