รีเซต

ไทยจัดงบ 2.9 พันล้าน ซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีด 33 ล้านคนแรก

ไทยจัดงบ 2.9 พันล้าน ซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีด 33 ล้านคนแรก
มติชน
5 ตุลาคม 2563 ( 13:45 )
242

วันนี้ (5 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมด้วย พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษก สธ. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน

 

นพ.นครแถลงว่า ในรายละเอียดของการประชุมจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นจะออกประกาศตามความในมาตรา 18 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เพื่อจัดหาวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบมติการจองวัคซีน ในกรอบวงเงินเฉพาะการจอง 2,930 ล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ หรือหากมีความเร่งด่วนก็อาจใช้งบกลาง หรือแหล่งรายได้อื่นของรัฐบาล โดยสถาบันวัคซีนฯ ต้องเจรจากับหน่วยงานผู้ผลิตวัคซีนทุกแห่งที่มีความเป็นไปได้ว่าจะสำเร็จ ใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1.โครงการ “โคแวกซ์” ขององค์การอนามัยโลก ร้อยละ 20 และ 2.ความร่วมมือทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่เข้าสู่ระยะที่ 3 ของการทดลองในมนุษย์ ร้อยละ 30

 

นพ.นครกล่าวว่า เป้าหมายเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ มากที่สุดร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในประเทศไทย หรือราว 33 ล้านคน ซึ่งปริมาณการใช้วัคซีนจะอยู่ที่ 1 คนต่อ 2 โดส ดังนั้นจะต้องทำการจองรวมทั้งสิ้น 60 ล้านโดส และคาดว่าหากจะต้องทำการซื้อวัคซีนจริงๆ จะต้องใช้กรอบวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่เป็นเพียงการตัวเลขคร่าวๆ เนื่องจากยังไม่มีราคาวัคซีนที่แน่นอน โดยกรอบเวลาการเจรจาคาดว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม นพ.นครกล่าวว่า การผลิตวัคซีนไม่สามารถส่งมอบให้ได้ทั้งหมดในคราวเดียว จะต้องทยอยส่งมาที่ประเทศไทย การทยอยจัดสรรวัคซีนในไทยอยู่ระหว่างกระบวนการของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการจัดลำดับความสำคัญตามหลักวิชาการของกลุ่มประชากรที่จะได้รับวัคซีน คาดว่าเบื้องต้นจะต้องเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ทำงานแนวหน้าในการรับมือกับโควิด-19 (ฟรอนท์ไลน์) ซึ่งเป็นแนวทางสากลในการจัดสรรวัคซีน เพราะหากเกิดการติดเชื้อในบุคลากรกลุ่มนี้ก็จะกระทบต่อระบบการให้บริการสาธารณสุขของไทย

 

“ความเป็นไปได้ของการได้รับวัคซีนขึ้นอยู่กับความร่วมมือ ขณะนี้มีประมาณ 10 หน่วยงาน ที่เข้าสู่ระยะที่ 3 ของการทดลองในคน ความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับวัคซีนน้อยลงเรื่อยๆ เพราะว่าเห็นความสำเร็จใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจาทั้งหมด ยังไม่มีข้อตกลง คาดว่าจะเป็นประเทศชั้นนำ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน รัสเซีย และทุกหน่วยงานที่จะสำเร็จ” นพ.นครกล่าว

 

ส่วนความกล่าวหน้าของการผลิตวัคซีนของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ นพ.นคร กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีนชนิด mRNA อยู่ระหว่างรอคิวผลิตจากโรงงานในสหรัฐ เพื่อนำมาทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ของประเทศไทย โดยทางโรงงานเริ่มผลิตแล้วคาดจะทยอยส่งมาถึงประเทศไทยในเดือนมกราคม

 

“ระหว่างนี้ทางจุฬาฯ ทดลองในสัตว์เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัย และเพื่อทดลองการป้องกันโรคของสัตว์ ประเทศเราช้ากว่าประเทศชั้นนำ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ” นพ.นครกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง