รีเซต

'อสม.' เคาะประตูบ้านรณรงค์ 'สงกรานต์แห้ง' ทั่วไทย สธ.จ่ออัดฉีด 8 หมื่นกรมธรรม์

'อสม.' เคาะประตูบ้านรณรงค์ 'สงกรานต์แห้ง' ทั่วไทย สธ.จ่ออัดฉีด 8 หมื่นกรมธรรม์
มติชน
12 เมษายน 2563 ( 17:13 )
69
'อสม.' เคาะประตูบ้านรณรงค์ 'สงกรานต์แห้ง' ทั่วไทย สธ.จ่ออัดฉีด 8 หมื่นกรมธรรม์

กระทรวงสาธารณสุข ผนึก อสม. รณรงค์ “สงกรานต์” ปลอดโควิด-19 เน้นอวยพรออนไลน์ เตรียมมอบ 8 หมื่นกรมธรรม์คุ้มครอง

กระทรวงสาธารณสุข- วันที่ 12 เมษายน ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)  15,000 คน มีบทบาทสำคัญในการณรงค์และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด19 เป็นอย่างมาก

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับโครงการ “อสม. เคาะประตูบ้านต้านโควิด-19” ดำเนินการระหว่างวันที่ 2-26 มีนาคม ให้ความรู้ คัดแยกกลุ่มเสี่ยง ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตาม และโครงการ “ค้นให้พบ จบใน 14 วัน” เริ่มวันที่ 27 มีนาคม ถึง วันที่ 2 เมษายน อสม.ได้บุกเคาะประตูบ้านไปแล้ว 11,835,329 หลังคาเรือน ในช่วงติดตามตัว 14 วัน อสม.สามารถเฝ้าระวังคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่กลับจากต่างประเทศได้ 59,559 คน กลุ่มที่กลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ 466,045 คน กลุ่มไปร่วม/ใกล้ชิดคนในพื้นที่เสี่ยงอีก 139,378 คน

“ส่วนภารกิจเยี่ยมติดตามกลุ่มเสี่ยงที่บ้านอยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งเป็น กลุ่มที่กักตัวครบ 14 วัน แล้ว 263,044 คน และยังไม่ครบ 14 วัน อีก 369,319 คน นอกจากนี้ ยังส่งต่อกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการป่วยเข้าระบบการรักษาอีก 2,266 คน ถือว่าเป็นด่านหน้าในการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยง และเป็นบทบาทภาคประชาชนของคนเล็กๆที่ร่วมทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศในครั้งนี้ด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อสม.จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในโครงการ “อสม.ร่วมใจ รณรงค์สงกรานต์ไทยปลอดภัยจากโควิด-19” โดยจะบุกเคาะประตูบ้านทุกครัวเรือน เน้นย้ำความสำคัญมาตรการการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) งดการจัดเทศกาลสงกรานต์และเดินทางกลับภูมิลำเนา งดรดน้ำดำหัว พร้อมรณรงค์สืบสานประเพณีด้วยการสรงน้ำพระที่บ้าน แสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ด้วยวิธีออนไลน์ และหากจำเป็นต้องเจอกันได้เน้นย้ำการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร

“ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ล่าสุด สธ.เตรียมหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และบริษัท ทิพยประกันภัย เพื่อมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ อสม.จำนวน 80,000 ฉบับ เพื่อดูแล อสม. เพิ่มเติมจากสิทธิที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เพิ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวถึงความพร้อมของโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถานพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ระดมทรัพยากรที่มีเข้ามาช่วย ขณะนี้ในกรุงเทพฯ มีเตียงรองรับผู้ป่วยในทุกเครือข่าย จำนวน 1,973 เตียง เฉพาะโรงพยาบาลเอกชน 1,040 เตียง คิดเป็นร้อยละ 52.7 และมีผู้ป่วยประมาณ 333 ราย ที่รักษาตัวอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน คิดเป็นร้อยละ 49 ของจำนวนผู้ป่วย และยังมีแผนเตรียมห้องผู้ป่วยความดันลบอีกกว่า 40 เตียง เพื่อสนับสนุนภาครัฐ

“จะเห็นว่าทั้งภาคประชาชนในบทบาท อสม. ภาคเอกชนในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน และภาคธุรกิจโรงแรมที่เข้ามาช่วยเรื่องฮอสปิเทล (Hospitel) เมื่อระดมความร่วมมือเข้าด้วยกัน จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในภารกิจควบคุมและรักษาโรคโควิด-19 ครั้งนี้ให้สำเร็จไปด้วยกัน” นพ.ธเรศ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง