รีเซต

แฉ! โรงงานไม่แคร์โควิด เร่งผลิตสินค้า แรงงานหญิงติดเชื้ออื้อ สลด! พบท้อง8เดือนติดเชื้อดับ

แฉ! โรงงานไม่แคร์โควิด เร่งผลิตสินค้า แรงงานหญิงติดเชื้ออื้อ สลด! พบท้อง8เดือนติดเชื้อดับ
มติชน
11 สิงหาคม 2564 ( 14:56 )
120
แฉ! โรงงานไม่แคร์โควิด เร่งผลิตสินค้า แรงงานหญิงติดเชื้ออื้อ สลด! พบท้อง8เดือนติดเชื้อดับ

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ เนื่องในโอกาสวันแม่ หัวข้อ “ท้อง-คลอดในวิกฤติโควิด  ชะตากรรมแรงงานหญิงที่ถูกเมิน” นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถานการณ์ของคนงานและแรงงานหญิงในช่วงวิกฤติโควิดช่วงนี้ น่าเป็นห่วงมาก มีการติดเชื้อจำนวนมาก แต่โรงงานหลายแห่งก็ไม่ได้มีมีมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก ไม่ดูแลเรื่องโรงพยาบาลสนาม ห่วงแต่เรื่องการผลิตให้ทันตามออเดอร์จากต่างประเทศ ทำให้มีการกระจายเชื้อไปในชุมชนมากมาย

 

 

นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ดังนั้นหน่วยงานรัฐและนายจ้างต้องให้ความสำคัญ ถ้าห่วงแต่เรื่องการผลิตอย่างเดียวการควบคุมโรคจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งที่จริงมีบางจังหวัดที่เคยผ่านวิกฤติโควิดมาแล้ว เช่น จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม ที่มีการจัดการที่ดี ดังนั้นจึงเสนอว่า

 

 

1.โรงงานต่างๆ ควรจะมีการตรวจเชิงรุกที่ชัดเจน

 

2.ควรจะมีการสร้างโรงพยาบาลสนาม ที่มีมาตรฐานมีบุคลากรการแพทย์ในการดูแล และมียารักษา มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาหากมีอาการหนักขึ้น หากโรงงานไหนไม่มีพื้นที่สำหรับตั้งโรงพยาบาลสนามต้องมีการประสานงานกับท้องถิ่น ในการหาสถานที่ดำเนินการ

 

3.ร่วมมือกับสหภาพแรงงานในโรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเรื่องการเจ็บป่วย หาทางออกกับปัญหาวิกฤตคราวนี้

 

และ 4.ต้องมีการเยียวยาตามสิทธิที่ลูกจ้างมีอยู่เดิม รวมถึงสิทธิในการเยียวยาเพิ่มเติมจากมาตรการของรัฐ ต้องสนับสนุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเจอหลายกรณีที่คนงานหญิงตั้งครรภ์มีอาการรุนแรง บางคนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นการตรวจเชิงรุกให้กับแรงงานหญิงและกลุ่มต่างๆ หรือคนงานที่ท้องมีความจำเป็นมาก และสิทธิต่างๆ ของประกันสังคมต้องครอบคลุมและช่วยเหลือมากกว่านี้

 

 

ด้าน นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม กล่าวว่า ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ ในภาพแรงงานที่ตนดูแลอยู่นั้นมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่เราต้องดูแลให้ดี เพราะ 1 คนท้องมี 2 ชีวิต จึงต้องมีการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น ต้องแยกตัวไม่ร่วมวงรับประทานอาหารกับคนอื่น อยู่ให้ห่างจากคนงานอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ต้องจัดให้หญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มพิเศษต้องได้รับการดูแลพิเศษ เช่น สลับมาทำงานในส่วนที่ไม่ต้องเจอคนเยอะ เป็นงานที่ไม่หนักมาก

 

 

“สิ่งสำคัญ คือหากเจอคนเสี่ยงติดเชื้อในสถานที่ทำงาน นายจ้างจะต้องดูแล สนับสนุนให้พนักงานได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งต้องดูแลพนักงานทุกคน ไม่เฉพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะถ้าให้แรงงานไปหาตรวจเองก็จะมีค่าใช้จ่ายเป็นพัน และไม่ควรรอเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเข้าดูแล เพราะตอนนี้มีการแพร่ระบาดเยอะ นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างก่อนด้วย” นางอรุณี กล่าว

ส่วน นางอัณธิกา โคตะมะ รองเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด -19 ระลอกนี้แรงงานมีความยากลำบากมาก บางบริษัทไม่มีแม้กระทั่งที่ตรวจ หรือตรวจเจอเชื้อก็ไม่มีเตียงรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มคนท้องยิ่งมีความลำบากมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างล่าสุดในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง มีพนักงานหญิงตั้งครรภ์หลายคน ที่น่าเสียใจคือมี 1 ราย อายุครรภ์ 8 เดือน เสียชีวิตโดยไม่ทันได้เห็นหน้าลูก แต่ที่น่าแปลกคือรัฐบาลบอกว่ารักษาโควิดฟรี แต่จากการพูดคุยกับสามีผู้เสียชีวิตพบว่า รพ.เอกชนที่รักษาเรียกเก็บเงิน 1.5 แสนบาท ก็ไม่รู้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง เพราะรายนี้มีการผ่าคลอด และทารกอยู่ในตู้อบ 7 วัน

 “จากที่มีการติดตามข้อมูลการดูแลแรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด โรงงานบางแห่ง ให้พนักงานหญิงตั้งครรภ์ใช้สิทธิลาคลอด 98 วันก่อนกำหนดได้ เพื่อลดการเดินทางลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ผู้หญิงหลายคนสู้อดทนเพื่อเก็บวันลาเอาไว้อยู่กับลูก ให้นมลูกหลังคลอดให้มากที่สุด แต่โรงงานบางแห่งก็ไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษเลย ซึ่งเข้าใจว่านี่ไม่ใช่นโยบายของรัฐ จึงอยากให้รัฐมีการออกมาตรการดูแลคนท้องเพื่อให้โรงงานปฏิบัติตามด้วย อย่างน้อยที่เสนอไปคือน่าจะหยุดงาน 3-6 เดือน แล้วรับเงินเดือน 50-75% ก็ได้” นางอัณธิกา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง