รีเซต

เหตุใดสหรัฐฯ…จึงสนับสนุนอิสราเอล

เหตุใดสหรัฐฯ…จึงสนับสนุนอิสราเอล
TNN World
20 พฤษภาคม 2564 ( 10:38 )
967
เหตุใดสหรัฐฯ…จึงสนับสนุนอิสราเอล

โจ ไบเดน ไม่แตกแถว เดินตามรอยเท้าเดิม ท่ามกลางคำครหาในจุดยืนผู้พิทักษ์โลก 


แม้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงยึดมั่นต่อบทพูดเดิมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ยึดถือกันมาช้านาน ด้วยการแสดงความสนับสนุนอิสราเอลและระบุว่า อิสราเอลมีสิทธิในการปกป้องตนเองจากการโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามาส 

 

 

ทำไม? สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนอิสราเอลอย่างแน่วแน่ 


ประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน คือผู้นำสหรัฐฯคนแรกที่รับรองอิสราเอลเมื่อครั้งก่อตั้งประเทศในปี 1948 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายสัมพันธ์ส่วนตัว โดยเอ็ดวาร์ด เจค็อบเซน อดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจของทรูแมน มีบทบาทสำคัญในการช่วยวางรากฐานของสหรัฐฯ ในการรับรองอิสราเอลในฐานะ “รัฐชาติ” 


แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การพิจารณาด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นด้วย เพราะเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียดกำลังก่อตัว


ตะวันออกกลาง ซึ่งมีทั้งทรัพยากรน้ำมันและเส้นทางเดินเรือทางยุทธศาสตร์ คือสมรภูมิหลักของสองชาติมหาอำนาจ ซึ่งสหรัฐฯ ได้กลายมาเป็นผู้นำหลักของโลกตะวันตกในการเจรจาอำนาจในตะวันออกกลาง เพราะมหาอำนาจยุโรปอ่อนแอจากสงคราม

 

 

นาทีแห่งการเปิดหน้าสนับสนุน


ในช่วงแรก สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลก็จริง แต่ไม่ได้ชัดเจน จนกระทั่งหลังสงครามหกวันในปี 1967 ที่อิสราเอลรบชนะกองทัพอียิปต์ ซีเรียและจอร์แดน จนสามารถแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ที่ในประวัติศาสตร์เป็นดินแดนของปาเลสไตน์ จึงทำให้สหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนอิสราเอลซึ่งมีความเหนือกว่าทางการทหารในตะวันออกกลาง และเพื่อปกป้องอิสราเอลจากการโจมตีจากชาติอาหรับอื่น ๆ


ขณะเดียวกัน อิสราเอลถือเป็นชาติที่ได้รับความช่วยเหลือสะสมจากสหรัฐฯ มากที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง


ในปี 2016 อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ลงนามข้อตกลงด้านกลาโหมกับอิสราเอล ในการจัดหาความช่วยเหลือทางกองทัพให้อิสราเอลมูลค่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งรวมถึงการจัดหา ‘Iron Dome’ หรือโดมเหล็ก ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ ทั้ง ๆ ที่อิสราเอลจัดเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและมีอุตสาหกรรมไฮเทคที่ก้าวหน้า

 

 

องค์กรทรงพลัง เบื้องหลังจับมือสองรัฐมหาอำนาจ 


การสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐฯ ยังมีหลากหลายปัจจัยร่วม นอกจากนโยบายต่างประเทศ 
สหรัฐฯ มีองค์กรมากมายที่เคลื่อนไหวสนับสนุนอิสราเอล องค์กรเหล่านี้มีอิทธิพลในวงกว้างผ่านการจัดกิจกรรมในระดับรากหญ้า รวมถึงการระดมทุนในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายยิว และโบสถ์ Christian Evangelical
องค์กรล็อบบี้ยิสต์ที่ทรงพลังที่สุดทางการเมืองสหรัฐฯ คือ คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอลหรือ AIPAC


AIPAC จัดการประชุมประจำปีในกรุงวอชิงตัน ดีซี มีผู้เข้าร่วมกว่าสองหมื่นคน และมักเป็นที่ปรากฎกายของบรรดานักการเมืองชั้นนำของสหรัฐฯ 


ทั้งประธานาธิบดีไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยปรากฎกายที่นี่ รวมถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอง ก็มาเข้าร่วมงานนี้เป็นประจำ


สำนักข่าว Aljazeera รายงานว่า กลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนอิสราเอลบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับบรรดาผู้ลงสมัครเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลาง 


ในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีที่แล้ว มีการบริจาคเงินรวมมากถึง 30.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวหนึ่งพันล้านบาท มากกว่าการเลือกตั้งในปี 2016 ถึงสองเท่า โดยกว่า 63% ไปที่พรรคเดโมแครต และอีก 36% บริจาคให้ผู้สมัครพรรครีพับบลิกัน

 

 

นักการเมืองสหรัฐฯ คนไหนที่โปรอิสราเอล?


อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ คือ ผู้สนับสนุนอิสราเอลตัวยงตลอดสี่ปีในการดำรงตำแหน่ง ในขณะที่นักการเมืองชั้นนำของทั้ง Democrat และ Republican ก็สนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผยเช่นกัน เช่น แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร, สเตนีย์ ฮอยเออร์ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาล่างของเดโมเครต และ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากของเดโมแครตในวุฒิสภา 


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เปโลซี ระบุว่า สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอล ความมั่นคงของอิสราเอล คือประเด็นด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เพราะอิสราเอลเป็นประเทศประชาธิปไตยชาติเดียวในภูมิภาคดังกล่าว เธอยังกล่าวว่า กลุ่มฮามาสเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของคนอิสราเอล ดังนั้นอิสราเอลมีสิทธิที่จะป้องกันตนเอง

 

 

แล้วใครเข้าข้างปาเลสไตน์บ้าง?


ขณะที่ปาเลสไตน์ ก็มีองค์กรที่สนับสนุนเช่นกัน คือ คณะกรรมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติอเมริกัน – อาหรับ และ US Campaign for Palestinian Rights เป็นต้น แต่องค์กรสนับสนุนปาเลสไตน์ไม่ได้มีบทบทเชิงรุกในการสนับสนุนเงินทุนในระดับชาติมากนัก


อย่างไรก็ตาม พรรค Democrat เอง มีกลุ่มนักการเมืองหัวก้าวหน้าที่เติบโตมากขึ้น พวกเขาเหล่านี้สนับสนุนปาเลสไตน์ในเวทีระดับประเทศ เช่น วุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอรส์ และเอลิซาเบ็ธ วอร์เรน ซึ่งเคยลงชิงเป็นตัวแทนพรรคสู้ศึกประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองเคยเรียกร้องให้สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือทางทหารต่ออิสราเอลอย่างมีเงื่อนไขเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์


นอกจากนี้ ในสภาล่าง ยังมี สส.รุ่นใหม่หัวก้าวหน้าอย่าง อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ คอร์เตซ, อิลฮาน โอมาร์, อยันนา เพรสลีย์, และราชิดา ทลาอิบ ซึ่งคนสุดท้ายคือ สส.อเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์คนแรกของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ด้วย


นักการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่ได้พึ่งพาโครงสร้างการระดมทุนเลือกตั้งแบบดั้งเดิม และพวกเขายังมีความกังวลต่อการปฏิบัติของอิสราเอลที่มีต่อชาวอาหรับในฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงค์ และในอิสราเอลเองด้วย

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง