รีเซต

ผลศึกษาชี้ กระจายวัคซีนต้านโควิดช้า ทำศก.โลกสูญ 2.3 ล้านล้านดอลล์.

ผลศึกษาชี้ กระจายวัคซีนต้านโควิดช้า ทำศก.โลกสูญ 2.3 ล้านล้านดอลล์.
มติชน
25 สิงหาคม 2564 ( 12:55 )
40

รายงานการศึกษาของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมระบุว่า การกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 75.9 ล้านล้านบาท)ได้

 

 

ผลการศึกษานี้ออกมาในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังมุ่งสู่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชากรในประเทศตัวเอง ขณะที่ความพยายามของนานาชาติในการจัดหาวัคซีนต้านโควิดให้กับชาติยากจนยังคงไม่เพียงพอ

 

 

รายงานการศึกษาของอีไอยูพบว่าเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่มีการกระจายวัคซีนต้านโควิดเชื่องช้าตามหลังกลุ่มประเทศร่ำรวยนั้น จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุด

 

 

อีไอยูประเมินว่าประเทศที่ล้มเหลวในการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กับประชาชนให้ได้ 60% ของประชากรในประเทศภายในกลางปี 2022 นั้น จะเผชิญความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 2 ล้านล้านยูโร ในช่วงปี 2022-2025

 

 

“ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะแบกรับความสูญเสียมากถึง 2 ใน 3 ที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มาบรรจบกับประเทศที่พัฒนาแล้วล่าช้าออกไปอีก”อีไอยูระบุ และเตือนด้วยว่า การกระจายวัคซีนที่เชื่องช้า อาจยิ่งโหมกระพือความรู้สึกไม่พอใจ ซึ่งก่อความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคมในเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา

 

 

ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะได้ผลกระทบหนักที่สุด คิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่หากเทียบเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ภูมิภาคซับ-ซาฮารา แอฟริกา จะเป็นพื้นที่ที่เผชิญความเสียหายเลวร้ายสุด

 

 

รายงานของอีไอยูระบุว่า ถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ราว 60% ของประชากรในประเทศที่มีรายได้สูง ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิดกันไปแล้วอย่างน้อย 1 โดส เมื่อเทียบกับชาติยากจนที่มีผู้ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสเพียง 1% ขณะที่วัคซีนส่วนใหญ่ที่ใช้ต้องฉีด 2 โดสถึงครบโดส

 

 

ผู้เขียนรายงานกล่าวด้วยว่า ความพยายามของนานาชาติในการจัดหาวัคซีนต้านโควิดให้กับชาติยากจนผ่านโครงการโคแวกซ์นั้นยังคงล้มเหลวแม้กระทั่งการจะดำเนินการให้ได้ตามความคาดหวังที่พอประมาณ และว่า ยังมีโอกาสน้อยมากที่จะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนได้ที่ประเทศร่ำรวยจัดหาวัคซีนให้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่มีความต้องการอย่างมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง