แบงก์ชาติ สอนมวย คลังถังแตก จี้รัฐจริงจังหารายได้ เผยรายจ่ายมือเติบ
แบงก์ชาติ สอนมวย คลังถังแตก จี้รัฐจริงจังหารายได้ เผยรายจ่ายมือเติบ
วันที่ 21 ส.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในภาวะวิกฤตคนที่มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ ภาครัฐ ดังนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ใกล้ระดับ 60% ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล ถ้าการใช้จ่ายเงินกู้นำไปใช้กับโครงการที่ดี โครงการที่มีประสิทธิผลต่อการกระตุ้นการจ้างงาน ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสอดคล้องวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล) ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ บทบาทการคลังก็สามารถเพิ่มได้อีก
ทั้งนี้ เรื่องสำคัญ ต้องพิจารณาว่าเงินกู้ที่ได้มาจะนำไปใช้กับโครงการอะไร ซึ่งควรจะเน้นให้เกิดการจ้างงาน ใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจหลังจากช่วงวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และต้องเป็นโครงการที่ช่วยให้ภาคธุรกิจขยายตัว
"ไม่อยากให้เราไปติดกับเกณฑ์อย่างที่ใช้ในภาวะเศรษฐกิจปกติ เช่น การก่อหนี้ต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี เพราะขณะนี้เศรษฐกิจหดตัว เป็นเรื่องที่เป็นกันทั่วโลก เราก็ต้องทบทวนตามสถานการณ์ ไม่อยากให้ยึดตัวเลขเป็นหลัก บทบาทภาคการคลังยังมีความจำเป็น เพื่อรักษาระดับไม่ให้เศรษฐกิจไหลลงแรงกว่านี้"
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเพิ่มบทบาทการใช้จ่ายภาครัฐ มีประเด็นที่ต้องคิดอย่างจริงจังถึงเรื่องความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ซึ่งมีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น เรื่องของฐานภาษีทรัพย์สินซึ่งปัจจุบันมีการเก็บในสัดส่วนที่น้อยมาก การเพิ่มประสิทธิภาพฐานภาษี ซึ่งหลายประเทศมีการหารายได้จากทรัพย์สินของภาครัฐ
นอกจากนี้ ต้องลดบทบาทของภาครัฐในระยะยาว รายจ่ายภาครัฐบางประเภทจะต้องมีการปรับลดลง โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ จะต้องปรับให้เหมาะสม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และจะต้องนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น
นายวิรไท กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง บทบาทรัฐ การนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็น หากต้องทำเพิ่มจากเกณฑ์ที่วางเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทกับสถานการณ์หากโควิดกระทบเศรษฐกิจกว้างและยาวขึ้น
คลังเป็นภาคเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงแรง เกณฑ์ กรอบบางอย่างตั้งในภาวะปกติ แต่เมื่อจะใช้การคลังเพิ่มขึ้น ก็ต้องทำควบคู่กับแผนการหาราสยได้ในอนาคต ที่ได้จากหลากหลายวิธี