รีเซต

USAID จับมือยูนิเซฟ แจกกระบอกฉีดยาให้ไทยเกือบ 3 ล้านชิ้นสนับสนุนการฉีดวัคซีน สู้โควิด-19

USAID จับมือยูนิเซฟ แจกกระบอกฉีดยาให้ไทยเกือบ 3 ล้านชิ้นสนับสนุนการฉีดวัคซีน สู้โควิด-19
มติชน
28 เมษายน 2565 ( 15:51 )
48
USAID จับมือยูนิเซฟ แจกกระบอกฉีดยาให้ไทยเกือบ 3 ล้านชิ้นสนับสนุนการฉีดวัคซีน สู้โควิด-19

สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างแข็งขันและต่อเนื่องโดยผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ในโอกาสสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก ทั้งสององค์กรได้มอบกระบอกฉีดยาเกือบ 3 ล้านชิ้นและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนในไทย

 

นอกจากนี้ การสนับสนุนของ USAID และยูนิเซฟครั้งนี้ ยังรวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของเครื่องใช้เพื่อสุขอนามัยที่จำเป็น ตลอดจนการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน และการช่วยให้ประชากรกลุ่มเปราะบางเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชากรรายได้ต่ำ ผู้อพยพ กลุ่มชาติพันธุ์ และชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ ตาก ตลอดจนจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

 

นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เข้าสู่ปีที่ 3 และสร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงกับทุกชีวิตในทุกพื้นที่ โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดทั้งในด้านสุขภาพและสุขภาวะไม่เพียงแค่ในวันนี้เท่านั้น แต่จะเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปีหากเราไม่เร่งดำเนินการ นั่นหมายความว่า เรายังจะต้องขับเคลื่อนความร่วมมือของเราในการให้ความช่วยเหลือสำคัญ ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอีกเป็นอย่างมาก กว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและการป้องกันของประชากรเหล่านี้ได้อย่างครบครัน ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือกับ USAID และภาคี เราจะยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่เปราะบางที่สุดในด้านที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ดร. สตีเวน จี โอลีฟ ผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “จนถึงปัจจุบัน USAID ได้ให้ความช่วยเหลือด้านโรคโควิด-19 เป็นมูลค่ามากกว่า 409 ล้านบาท (12.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเพิ่มเติมจากการจัดส่งวัคซีน mRNA ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจำนวน 2.5 ล้านโดสจากสหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลไทย ความช่วยเหลือครั้งล่าสุดของ USAID ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลไทยที่จะร่วมกันบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่อย่างใกล้ชิด การทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อรับมือการแพร่ระบาดแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่จะยกระดับสุขภาพและสุขภาวะของสังคมเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด”

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2563 USAID ได้มอบทุนสนับสนุนแก่ยูนิเซฟจำนวนรวม 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทย

 

ความช่วยเหลือล่าสุดจาก USAID ซึ่งมีมูลค่า 1.45 ล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน และการส่งเสริมให้คนฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจัดส่งสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ ได้แก่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค เครื่องใช้เพื่อสุขอนามัย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง กระบอกฉีดยาและน้ำยาละลายวัคซีนโซเดียมคลอไรด์ 0.9% เพื่อช่วยประเทศไทยรับมือกับโรคโควิด-19

 

นอกจากนี้ ยังได้มีการฝึกอบรมอาสาสมัครชุมชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ ตาก สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้มีความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อปกป้องตนเองและชุมชนจากโรคโควิด-19

เจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุมชน ซึ่งรวมถึงเยาวชนและอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ได้ช่วยติดตามผู้ป่วยใหม่ ตรวจหาเชื้อในชุมชน เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพเบื้องต้น อำนวยความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล และบรรเทาผลกระทบทางด้านจิตใจจากการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ อาสาสมัครยังกำลังรับการฝึกอบรมเพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อมูลวัคซีนที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

 

ภายใต้การสนับสนุนครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังศึกษาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อเด็กและครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผลการศึกษาจะส่งให้กับภาครัฐบาล ตลอดจนภาคีภาคธุรกิจและเอกชน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงบริการและความช่วยเหลือสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดดังกล่าว อีกทั้งยังสนับสนุนให้วิทยุชุมชน ผู้นำทางศาสนา และผู้นำชุมชนช่วยกระจายข้อมูลเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 และความรู้ด้านวัคซีนไปยังทั่วทุกเขตในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ภาคีระดับประเทศและชุมชนในการดำเนินการนี้ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์พัฒนาสังคม กลุ่มลูกเหรียง มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง