รีเซต

ศบค.ชี้ กทม.มียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 1 พัน 6 วันติด ผู้รับแอสตร้าฯ 2 เข็มเมื่อ พ.ค.64 ติดต่อฉีดเข็ม 3 ได้

ศบค.ชี้ กทม.มียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 1 พัน 6 วันติด ผู้รับแอสตร้าฯ 2 เข็มเมื่อ พ.ค.64 ติดต่อฉีดเข็ม 3 ได้
มติชน
27 ตุลาคม 2564 ( 14:14 )
59

ศบค. ชี้ กทม. มียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 1 พัน ต่อเนื่อง 6 วัน เผยผู้ได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม เมื่อ พ.ค.64 ติดต่อเข็ม 3 ได้ 29 ต.ค.นี้มีประชุม ศบค.ชุดใหญ่

 

วันที่ 27 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวัน มีผู้ป่วยใหม่ 8,452 ราย เป็นผู้ที่หายป่วยแล้ว 8,449 ราย ส่วนผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ 98,096 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 2,355 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 534 ราย

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ด้านผู้ที่เสียชีวิตประจำวัน มี 57 คน ซึ่งเห็นได้ว่ามีทิศทางเดียวกัน ทั้ง ผู้ป่วยหนัก ผู้ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับทิศทางของโลก สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 57 รายนั้น มีเพศชายพอๆกับเพศหญิง และกว่า 95% เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้องรัง นอกจานี้ ผู้เสียชีวิตวันนี้ เป็นการรายงานจากภาคกลาง รวม 17 รายและภาคตะวันออก รวม 17 ราย ซึ่ง มากกว่าภาคใต้ ที่มี 14 ราย ส่วนยอดการตรวจด้วยชุด เอทีเค ในภาพรวมอยู่ที่ 3.62%

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนอันดับการติดเชื้อสูงสุดใน 10 จังหวัดแรกนั้น พบว่าไม่มีจังหวัดไหน มียอดการติดเชื้อเกิน 1 ,000 ราย ดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร 859 ราย โดยต่ำว่า 1,000 รายติดต่อกันเป็นวันที่ 6 แล้ว 2.สงขลา 551 ราย 3.ปัตตานี 532 ราย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดซึ่งเป็นจังหวัดเฝ้าระวัง 4 จังหวัดภาคใต้ ก็มีแนวโน้มลดลงแล้วเช่นกัน 4.ยะลา 475 ราย 5.จันทบุรี 358 ราย 6. นครศรีธรรมราช 345 ราย 7.นราธวาส 331 ราย 8.สมุทรปราการ 306 ราย 9.ชลบุรี 297 ราย และ 10.เชียงใหม่ 270 ราย

 

 

“คลัสเตอร์ที่พบเยอะที่สุดใน 10 จังหวัดนั้น คือ จากจังหวัดจันทบุรี คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง 132 คลัสเตอร์ และจากแรงงาน 6 คลัสเตอร์ จากนครศรีธรรมราช คลัสเตอร์งานศพ 5 คลัสเตอร์ ด้านเชียงใหม่นั้นจากรายงานพบว่าลดมาเป็นสีเขียวแล้ว แสดงให้เห็นถึงความร่วมกันของประชาชนในจังหวัด ที่ช่วยกันควบคุมไม่ให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น แต่ในการรายงานยังพบการติดเชื้ออย่างประปราย ในตลาด ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง และโรงงาน ทั้งนี้ยังคงต้อง เน้นย้ำในเรื่องมาตรการส่วนบุคคล ไม่ว่าจากงานศพ หรือในตลาด ยังคงต้องกำชับมาตรการ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาอนามัย และการนำอาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน” พญ.สุมนี กล่าว

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับรายงานการฉีดวัคซีน มีการฉีดเพิ่มขึ้น 812,009 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 371,263 ราย คิดเป็น 56.5% ของประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 401,747 ราย คิดเป็น 40.4% ของประชากร และเข็มที่ 3 จำนวน 38,999 ราย คิดเป็น 3.1% ของประชากร

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า เมื่อแยกตามกล่มเป้าหมายของการให้บริการวัคซีน กลุ่มที่สำคัญในช่วงนี้คือ กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา 12-17 ปี ซึ่งเริ่มการฉีดตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในตอนนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,924,942 ราย จาก 4,500,000 ราย คิดเป็น 42.8% ทั้งนี้ นอกจากเร่งระดมฉีดให้กลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังคงต้องเร่งฉีดให้ ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความครอบคลุมเพิ่มด้วย

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า โดยเมื่อช่วงเช้า วันนี้(27 ตุลาคม) ในที่ประชุม อีโอซีกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานข้อมูลจากกระศึกษาธิการ ได้มีความเห็นชอบให้สถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) และพื้นที่ควบคุม (สีแดง) นั้นต้องให้คุณครูหรือและบุคลากรทางการศึกษาได้รับวัคซีนครบ 2 โดสต่อคน อย่างน้อย 85% จึงจะสามารถเปิดการเรียนที่โรงเรียน โดนรายงานระบุว่ายังมีผู้ที่ยังต้องได้รับวัคซีนอีก 131,238 ราย ขอเชิญชวนให้มารับบริการฉีดวัคซีนได้

 

“ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน และผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม ตั้งแต่พฤษภาคม สามารถมารับวัคซีนกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 ได้ เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนในปริมาณเพียงพอ ขอให้ผู้ประสงค์รับวัคซีนกระตุ้น เข็มที่ 3 ติดต่อที่สถานที่รับบริการเข็มที่ 2 หรือเข็มก่อนหน้าได้เลย” พญ.สุมนี กล่าว

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ด้านความครอบคลุมการรับวัคซีนนั้น จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 15 จังหวัด มีจังหวัดที่ครอบคลุมเข็มที่ 1 ใน 50% ของประชากรตามเปาหมายแล้ว ได้แก้ กทม. เชียงใหม่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด บุรีรัมย์ กระบี่ พังงา และระนอง ส่วนที่เข้าใกล้เป้าหมาย 50 % ได้แก่ เลย หนองคายและอุดรธานี ขอให้พี่น้องประชาชนออกมารับบริการฉีดวัคซีน กรณีที่มีญาติพี่น้อง มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถรับบริการได้ สามารถแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกเชิงรุกได้ สำหรับกลุ่ม 608 ในพื้นที่สีฟ้านั้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75% ยังคงต้องเร่งเพิ่มจำนวนของกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประเทศในเวลาอันใกล้นี้

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เกิน 50% ของประชากรแล้ว ยะลา และสงขลา ส่วน นราธิวาส และปัตตานี ก็กำลังเพิ่มขึ้นเข้าใกล้เป้าหมาย 50% แล้ว ส่วนกลุ่ม 608 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59.4% เช่นเดียวกันหากเป็น กรณีที่มีญาติพี่น้อง มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถรับบริการได้ สามารถแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกเชิงรุกได้

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ ศบค. ได้มีการปรับระบบจาก ซีโออี มาเป็นแพลตฟอร์มไทยแลนด์พาส ทั้งนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจ้งรายละเอียดของแพลตฟอร์มไทยแลนด์ พาสแล้ว ตั้งแต่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังมีการประชาสัมพันธ์ตามเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงรายละเอียดขั้นตอน ไปยังสถานทูตต่างๆ ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางมายังประเทศไทยให้สอบถามรายละเอียด จาดสถานทูตในประเทศของท่านได้เลย

 

“สำหรับวันที่ 29 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก็ขอให้ พี่น้องประชาชนติดตามรับชมการแถลงจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่จะสรุปประเด็นการประชุมดังกล่าว” พญ.สุมนี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง