ทส. เปิดเวทีสัมมนา "COP 26 สู่วิถีชาวบ้าน" ร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จ ลดโลกร้อน
ปลัดกระทรวงทรัพยาฯ เปิดสัมมนาออนไลน์ "COP 26 สู่วิถีชาวบ้าน" ขับเคลื่อนปัจจัยความสำเร็จเพื่อนำองค์ความรู้ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมพัฒนาวิจัยต่อยอดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เป็นประธานเปิดการสัมมนาออนไลน์ เรื่อง "COP 26 สู่วิถีชาวบ้าน" โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) และเจ้าหน้าที่ ทส. เข้าร่วมสัมมนา ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์
นายจตุพร กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) นั้น จะต้องขับเคลื่อนปัจจัยความสำเร็จ 4 ส่วนไปพร้อมกัน
คือ 1. นโยบายภาครัฐและกฎหมาย ทั้งจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม ร้อยละ 55 รวมทั้ง ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย และ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... ในการบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีเอกภาพและเป็นระบบ
2. ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักให้กับประชาชน เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ร่วมกันอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยในปี 2565 ทส. จะจัดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ TCAC เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันภายในประเทศ
3. การลงทุนอย่างยั่งยืน โดยจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ ถึงแนวทางด้านการเงิน การกู้ยืม/สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
4. เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ศึกษาการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ปลัดทส. ระบุว่า การสัมมนาออนไลน์ "COP 26 สู่วิถีชาวบ้าน" ครั้งนี้ จึงเป็นการเผยแพร่ สื่อสารข้อมูล ความรู้จากงานวิจัยของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้กับนักวิชาการ ทสม. เครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้สามารถตั้งรับและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในระดับพื้นที่ ตลอดจนพัฒนางานวิจัยในลักษณะต่อยอดที่ตอบรับกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ต่อไป