‘ทุเรียน’ นำร่องระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก พร้อมเดินหน้าพัฒนาท่าเรือบก-5G
‘ทุเรียน’ นำร่องระเบียงผลไม้ - นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลการประชุมกพอ. ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรืออีเอฟซี (EFC) ซึ่งขณะนี้ สำนักงานกพอ. ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง เตรียมจัดทำระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ และกลุ่มสหกรณ์ ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยระยะแรกจะคัดเลือกจากกลุ่มชาวสวนทุเรียนที่ได้รับมาตรฐานสากลสำหรับส่งออก (GAP) ในเบื้องต้นโครงการอีเอฟซีตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 20-30%
นอจากนี้ ยังรับทราบความคืบหน้าการลงนามบันทีกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทยกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบกในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะ (Amata Smart & Eco City) ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
“การพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าจากประเทศจีน ลาว และไทยอย่างไร้รอยต่อ เพื่อจูงใจนักลงทุนสร้างประโยชน์ให้ประเทศและประชาชนสูงสุด”
ขณะเดียวกันได้เร่งรัดส่งมอบเปิดพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินภายในเดือนมี.ค. 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนก.ย. 2564
ส่วนการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากสัญญาณสู่ข้อมูลกลาง ติดตั้งแล้วเกิน 80% ของพื้นที่ ตั้งเป้าหมายผลักดันการใช้ประโยชน์ 5G ในภาคการผลิต ภาคธุรกิจ โรงงานในอีอีซี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง รวมถึงหน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล กลุ่มเอสเอ็มอีให้มาใช้ 5G พร้อมเริ่มนำร่องใช้ในบริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบ้านฉาง
ขณะเดียวกัน ให้ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนด้านดิจิตอลเข้ามาร่วมลงทุนผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New Skill) ตั้งเป้าหมาย 3 ปี (2564-2566) รวม 115,282 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 8,392 คน และในปี 2564-2565 จำนวน 62,890 คน ซึ่งจะประสานกับบริษัทชั้นนำ เช่น หัวเหว่ย, เอชพี ในการผลิตบุคลากรร่วมกันอย่างน้อย 44,000 คน”
สำหรับภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนหลัก จากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในอีอีซี โดยนักลงทุนญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติ 3 อันดับแรกที่เข้าลงทุนในอีอีซี