รีเซต

'ชัชชาติ' เข้าสภาฯ แจง กมธ.งบฯ 66 มั่นใจนโยบาย 216 ข้อทำได้ แค่เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือปฏิบัติ

'ชัชชาติ' เข้าสภาฯ แจง กมธ.งบฯ 66 มั่นใจนโยบาย 216 ข้อทำได้ แค่เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือปฏิบัติ
มติชน
8 กรกฎาคม 2565 ( 13:43 )
49
'ชัชชาติ' เข้าสภาฯ แจง กมธ.งบฯ 66 มั่นใจนโยบาย 216 ข้อทำได้ แค่เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือปฏิบัติ

‘ชัชชาติ’ เข้าสภาฯ แจง กมธ.งบฯ 66 มั่นใจนโยบาย 216 ข้อทำได้ แค่เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือปฏิบัติ พร้อมส่งสัญญารถไฟฟ้าให้ตามที่กมธ.ร้องขอ

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่รัฐสภา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มีนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณาในส่วนของกระทรวงมหาดไทย คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เข้าชี้แจง

 

ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณของกทม. วงเงิน 20,634.7242 ล้านบาท โดยได้รับความสนใจจากกมธ.ทำการสอบถามกว่า 20 คน อาทิ ปัญหาเรื่องสายสื่อสาร โครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย ปัญหาขยะในกทม. อุโมงค์ยักษ์ ปัญหาทางเท้า เรื่องภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง และบีทีเอส เป็นต้น

 

ขณะที่ นายชัชชาติ ชี้แจงถึงปัญหาขยะในกทม.ว่า มีโรงงานขยะหลายโรงที่มีปัญหากับชุมชน ตอนนี้ให้หยุดดำเนินการ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ปัญหาอีกส่วนไม่ใช่เรื่องการกำจัดขยะ แต่เป็นเรื่องราคากำจัดขยะ เนื่องจากมีตัวเลขค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด อีกทั้งมีการทำสัญญาระยะยาว 20 ปี ทำให้การปรับเปลี่ยนยาก ตอนนี้ทำได้คือทำตามระเบียบกฎหมายให้เข้มข้นเพื่อดูแลผลประโยชน์ประชาชน ซึ่งอนาคตจะมีกระบวนการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง เพื่อลดปริมาณขยะ ส่วนการประมูลเพิ่มต้องให้ราคาต่ำสุด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งในการประชุมนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกมธ. ได้สอบถามถึงสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมทั้งขอเอกสารด้วย

 

นายชัชชาติ จึงชี้แจงในประเด็นบีทีเอสตอนหนึ่งว่า ตนไม่ได้เป็นคนทำสัญญา ส่วนต่อขยายที่ 1 กับส่วนต่อขยายที่ 2 จ้างถึงปี 2585 เป็นเรื่องที่อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เราได้ทำหนังสือเร่งรัดไปแล้วว่า ผลการสอบสวนเป็นเช่นใด มีความคืบหน้าอะไรหรือไม่ ส่วนสัญญา ปี 2572–2585 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ต้องดูว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ส่งไปป.ป.ช.ด้วย ไม่เช่นนั้น ปี 2572–2585 ต้องจ้างเดินรถ และจะมีค่าเสียหาย ซึ่งมีคนบอกว่าเขาคงจะเรียกแพงถ้าเราจะขอเลิกสัญญา แล้วประมูลใหม่ ปี 2572 กำลังหาลู่ทางว่ากระบวนการครบถ้วนหรือไม่ มีอันไหนที่ควรจะเข้าสภากทม.แล้วไม่ได้เข้าหรือเปล่า ขณะนี้กำลังให้ทางฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอยู่

 

“ส่วนสัญญา ท่านขอก็ต้องให้ท่าน แต่ประเด็นคือสัญญานี้เขียนว่า ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชน ยกเว้นเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าท่านขอผมก็คงปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะท่านเป็นกมธ. คงเปิดเผยให้ท่านได้ตามที่ท่านร้องขอ” นายชัชชาติ กล่าว

 

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของงบประมาณกทม. ที่จริงยังมีงบอีก 80,000 ล้านบาท ที่ได้จากภาษีต่างๆ รวมแล้วประมาณแสนล้านบาท ไม่ได้เยอะถ้าเทียบกับงบของรัฐบาล 3.1 ล้านล้านบาท ของเราเทียบเป็น 2.5 % ของเงินรัฐบาล แต่เราดูแลประชากร 15% ดังนั้น งบแสนล้านไม่ได้เยอะเกินขอบเขตหน้าที่ที่เราดูแลอยู่ สำหรับ กทม.มีความอึดอัดตรงที่ว่าหลายส่วน มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุข เราไม่มีสาธารณสุขจังหวัด เมื่อเกิดโควิด-19 ไม่มี Single Command มีเตียงแค่ 10% ที่เหลือเป็นของเอกชน หน่วยงานอื่น ขณะที่จราจร มี 37 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอรถติดทีหาเจ้าภาพยาก เป็นความอึดอัดอันหนึ่งที่คิดว่ามีปัญหาอยู่

 

“ในส่วนของกทม. มีแผ่นแม่บทอยู่แล้ว 7 ยุทธศาสตร์ 20 ปี ผมในฐานะคนเข้ามาใหม่ คงจะไม่ปรับยุทธศาสตร์ทันที เพราะไม่อยากให้ผู้ว่าฯ มาทียุทธศาสตร์เปลี่ยนที แต่เราคงพยายามทำให้ยุทธศาสตร์ที่เรามีเข้ากับของที่มีอยู่ก่อน คิดว่าไม่แตกต่าง ส่วนตัวคิดว่าอยู่ที่ การปฏิบัติมากกว่า” นายชัชชาติ กล่าว

 

นอกจากนี้ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรค พท. ในฐานะกมธ. ได้ซักถามแสดงความเป็นห่วงว่าถ้าไม่มีเงินจะทำได้หรือไม่ นายชัชชาติ ชี้แจงว่า ทำได้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาตรงนี้แน่ และในนโยบาย 216 ข้อมีจำนวนมากไม่ได้ใช้เงิน แค่เปลี่ยนวิธีคิด เช่น Open data ก็ไม่ได้ใช้เงิน ใช้แพลตฟอร์มในการแจ้งเหตุ ส่วนโครงการที่ใช้เงินรอทำปีหน้า ขณะที่อุปสรรคสำคัญคือเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานกทม.ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวิธีง่ายที่สุดคือ ผู้ว่าฯ ต้องเดินไหว้ไปทั่ว เดือนแรกก็ไหว้ทุกหน่วยงานขอความร่วมมือ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี รวมถึงภาคเอกชนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง