รีเซต

Exclusive Content : "รถไฟฟ้าสายสีแดง เชียงใหม่"โจทย์ที่มากกว่าแก้ปัญหารถติด

Exclusive Content : "รถไฟฟ้าสายสีแดง เชียงใหม่"โจทย์ที่มากกว่าแก้ปัญหารถติด
TNN ช่อง16
12 กุมภาพันธ์ 2563 ( 16:29 )
130

 

        จังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างเชียงใหม่  มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่เรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกที่การจราจรในตัวเมืองเองจะติดขัด  โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเหมือนๆกับกรุงเทพฯนี่แหละ 

 

 

        ในปีที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2018 มีจำวนอยู่ที่ 10 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทย 7 ล้านคน ต่างชาติอีก ประมาณ 3 ล้านคน โดยจีน ยังครองอันดับ 1 นักท่องเที่ยวของเชียงใหม่ รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา  จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่จะรถติดพอๆกับกรุงเทพฯ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยขนส่งมวลชนระบบรางก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีอยู่พอสมควร 

 

 

       ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีที่แล้ว (2562) ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกา ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ รฟม.เริ่มศึกษาการก่อสร้าง สายสีแดง ในเชียงใหม่ก่อนเป็นสายแรก เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว   แต่โจทย์ของ รฟม. ไม่ได้มีแค่การแก้ปัญหารถติดเพียงอย่างเดียว การคำนึงถึงผลกระทบ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม กลับเป็นโจทย์ยิบย่อยที่ต้องให้ความสำคัญด้วย 

 

        สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)  จะเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) หรือจะเรียกชื่อเล่น ว่า "รถแทรม"   เป็นการเดินรถในลักษณะทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือใต้ ระยะทางรวมประมาณ 16 กิโลเมตร  มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี  แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี  โดยจะเริ่มจากสถานี โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งจะวิ่งระดับบนดิน ต่อไปยัง ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-หนองฮ่อ ต่อจากนั้น จะเริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดิน สถานีข่วงสิงห์-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่-ประตูช้างเผือก-ประตูสวนดอก-หายยา-ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งสถานี้เมื่อพื้นเขตสนามบินเชียงใหม่จะเริ่มมุดขึ้นมาบนดิน และจบที่สถานี แม่เหียะสมานสามัคคี  

 


หมายเหตุ : อีก 4 สถานีรอเคาะจุดก่อสร้างสถานีที่ชัดเจน

 

      คุณธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. ฝ่าย กลยุทธ์และแผน บอกว่า การก่อสร้างโครงการนี้จะใช้โมเดลเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง  แต่จะลดคอสต์ลง มาเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการไม่ได้มากเท่าในกรุงเทพฯ   โดยจะให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งงานก่อสร้างและจัดหาระบบเดินรถ ซึ่งเป็นการรับสัมปทาน 30 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 27,000 ล้านบาท แยกเป็น งบเวนคืนที่ดินวงเงิน 4.4 พันล้านบาท ซึ่งนำมาใช้ในการเวนคืนที่ดินบริเวณแยกหนองฮ่อ จำนวน 25 ไร่ และพื้นที่ทำทางขึ้น ทางลงสถานีใต้ดิน  , งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า 5 พันล้าน , งบงานโยธา 1.5 หมื่นล้านบาท และ อื่นๆ 2.6 พันล้าน  อย่างเช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา เป็นต้น 

 

 

        ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา รฟม.ก็ได้จัดประชุมทดสอบความสนใจภาคเอกชนที่มีต่อโครงการ "รถแทรมเชียงใหม่"  ซึ่งก็มี ภาคเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก  และจากผลการศึกษาวิเคราะห์ พบว่า โครงการ "รถแทรมเชียงใหม่"  จะมีผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIR) ประมาณ 13%   รวมถึงรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้เอกชนบางส่วนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) มีความคุ้มค่า สูงกว่า 12%    หลังจากนั้นจะขออนุมัติดำเนินโครงการดังกล่าวและรูปแบบการลงทุนและนำเสนอกระทรวงคมนาคมและบอร์ด PPP  ช่วงกลางปีนี้ (63)  และจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณกลางปี 2564 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2565  จึงจะสามารถดำเนินการเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570  ส่วน อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ระหว่าง 15-30 บาท  และเมื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ  จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 16,000 คนต่อวัน  

 

 

           แม้ว่าระบบขนส่งมวลชนทางรางจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตและปัญหาการจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ได้  หลายฝ่ายยังคงกังวลเกี่ยวกับการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก  เพราะหากเป็นไปได้ก็จะเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวไทยได้ด้วย   แต่ในทางกลับกัน  เมื่อการพัฒนาเมืองให้มีความก้าวหน้า ก็อาจจะมีส่วนในการดึงให้แรงงานท้องถิ่นย้ายถิ่นฐานกลับสู่ภูมิลำเนา ไม่กระจุกตัวอยู่แค่เพียงกรุงเทพฯ ก็น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทำให้มีเม้ดเงินหมุนเวียนไปยังท้องถิ่น แต่ถึงกระนั้น กว่าจะได้เห็น "รถแทรมเชียงใหม่"  ก็น่าจะอีกเกือบ 10 ปี เพราะเปิดให้ใช้กันจริงๆก็ตั้งปี 70 โน่นเลยทีเดียว

 

 

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวที่เกี่ยวข้อง