ป.ป.ส. อึ้ง ต้มกระท่อม ดื่มแทนเหล้า-เบียร์ ช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจับเพิ่มเพียบ ชี้ ผิดกม.แปรรูปเป็นน้ำก็ไม่ได้
ป.ป.ส. อึ้ง ต้มกระท่อม ดื่มแทนเหล้า-เบียร์ ช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจับเพิ่มเพียบ ชี้ ผิดกม.แปรรูปเป็นน้ำก็ไม่ได้
ต้มกระท่อมดื่มแทนเหล้าเบียร์ วันที่ 18 เมษายน นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึง สถานการณ์การลักลอบเสพพืชกระท่อมในขณะนี้ว่ามีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเสพในรูปน้ำต้มพืชกระท่อมผสมวัตถุอื่นที่เรียกว่า 4 คูณ 100 โดยเฉพาะภายหลังการประกาศ พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และต่อมามีการประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น พบว่ากลุ่มผู้ใช้แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเสพน้ำต้มพืชกระท่อมอยู่ก่อนแล้ว กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่นำมาเสพแทนสุราในช่วงนี้ และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่เข้าใจว่าสามารถนำมาเสพได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ความเข้าใจผิดว่าสามารถเสพพืชกระท่อม หรือน้ำต้มกระท่อมได้ อาจมาจากเหตุที่ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งขอเรียนว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น และแม้จะปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดแล้วก็ตาม การใช้ประโยชน์พืชกระท่อมก็จะมีมาตรการดูแลไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิดตามข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเรื่องการดูแลไม่ให้เด็กและเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด การนำไปแปรรูป/ปรุงแต่ง/ผสมใช้เป็นยา อาหารเสริม เวชสำอางค์หรืออื่น ๆ และการใช้ในกลุ่มผู้ควบคุมเครื่องจักรหรือพาหนะ ซึ่งขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ส. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันเร่งศึกษาและพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อใช้ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าการปรับนโยบายของทางราชการจะไม่ส่งผลเชิงลบตามมา”
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่านโยบายการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดเป็นแนวคิดริเริ่มของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เห็นถึงประโยชน์จากสรรพคุณของพืชกระท่อมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ประกอบกับการผ่อนปรนให้ผู้ใช้พืชกระท่อมในชีวิตประจำวันตามวิถีชาวบ้านสามารถทำได้ แต่ไม่ได้หมายถึงการให้ใช้อย่างเสรี หรือใช้ในทางที่ผิดเช่น การเสพน้ำต้มพืชกระท่อมผสมที่เรียกว่า 4 คูณ 100
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่าการปรับกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะแม้พืชกระท่อมจะมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษ ถ้านำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การปรับแก้กฎหมายปรับพืชกระท่อมดังกล่าว จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้หรือเสพพืชกระท่อมอย่างเสรี แต่ต้องมีการกำหนดกฎและเกณฑ์ในการกำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในระหว่างกระบวนการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษดังกล่าว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างการนำร่างกฎหมายส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา จากนั้นจะเสนอเข้ารัฐสภาเพื่อผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้การพิจารณาเห็นชอบ จึงอยากฝากถึงประชาชนว่าพืชกระท่อมยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง และเสพยังผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการนำพืชกระท่อมไปต้มเป็นน้ำกระท่อม แบบ 4 คูณ 100 ผสมกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรืออื่น ๆ ถือว่ามีความผิดตามสิ่งที่นำมาปรุงหรือผสมอยู่ เช่น เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 หรือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522