รีเซต

เปิดยอด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ส่งวัคซีนโควิดให้ไทย 'หมอตี๋' แย้ม ล่าช้ากว่าแผนเดิม

เปิดยอด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ส่งวัคซีนโควิดให้ไทย 'หมอตี๋' แย้ม ล่าช้ากว่าแผนเดิม
มติชน
15 กรกฎาคม 2564 ( 12:54 )
52
เปิดยอด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ส่งวัคซีนโควิดให้ไทย 'หมอตี๋' แย้ม ล่าช้ากว่าแผนเดิม

 

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” ถึงประเด็นการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อใช้ในการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า จริงๆ มีข้อคลาดเคลื่อนเรื่องของตัวเลขวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในปี 2564 จากเดิมบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า กำหนดส่งวัคซีนให้เราจำนวน 61 ล้านโดส ภายใน เดือน ธ.ค.2564 แต่มีการขอขยายเวลาออกไป ซึ่งจำวันที่และเดือนไม่ชัดเจน แต่คาดว่าเป็นเดือน พ.ค.2565

 

 

นายสาธิต กล่าวว่า ต้องเรียนว่าในสัญญาไม่มีเงื่อนเวลา มีเพียงการระบุจำนวนวัคซีนทั้งหมดไว้ ส่วนเรื่องของเวลาเป็นการเสนอแผนพูดคุยกัน ซึ่งเป็นการเน้นเรื่องการเจรจา และต้องเรียนว่าสงครามวัคซีนในช่วงเวลานี้เป็นอำนาจของผู้ขาย ฉะนั้น การกำหนดในสัญญาต่างๆ จะไม่ค่อยมีการยืนยันเรื่องของเวลา

 

 

“อันนี้เป็นเพียงกรอบเวลา แต่หากเขาผลิตได้มากก็ส่งได้ทัน” นายสาธิต กล่าวและว่า แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า จะส่งให้เราในอัตรา 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งขณะนี้กำลังการผลิตอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน แต่ในอนาคตอาจผลิตได้มาก เราก็ต้องเจรจากับเขา

 

 

นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เราวางแผนได้ ด้วยการพยายามที่จะเอาจำนวนที่จะได้รับในวัคซีนทุกยี่ห้อ บริหารการฉีดให้กับคนไทยให้เร็วที่สุดและทั่วถึงที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของการไขว้ฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีการศึกษาว่าสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ได้ประมาณ 60-70% เราจึงเอาส่วนนี้มาบริหาร

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่กรมควบคุมโรคได้รับจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นการจัดสรรรายสัปดาห์ โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ซื้อด้วยงบประมาณของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จำนวน 61 ล้านโดส เป็นการจัดสรรงบ เพื่อซื้อวัคซีนภายในปี 2564 ดังนี้

 

 

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ล็อตแรก จำนวน 117,300 โดส
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. จำนวน 242,100 โดส
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. จำนวน 1,787,100 โดส
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. จำนวน 632,000 โดส
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. จำนวน 948,000 โดส
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. จำนวน 593,300 โดส
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. จำนวน 323,600 โดส
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. จำนวน 846,000 โดส
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. จำนวน 590,000 โดส
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. จำนวน 555,400 โดส
รวม 6,634 ,800 โดส

 

 

และยังมีวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นอีกจำนวน 1,050,000 โดส รวมทั้งสิ้น 7,684,800 โดส

 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร สธ.เคยระบุว่า ได้แจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนว่าประเทศไทยมีเป้าหมายดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส หากสามารถจัดหาวัคซีนตามแผนนี้ได้ก็จะทำให้แผนการฉีดวัคซีนของประเทศเป็นไปตามเป้า ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.64) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการส่งมอบวัคซีนระหว่างกรมควบคุมโรค และบริษัทแอสตร้าฯ ว่า มีการเจรจากัน ซึ่งบริษัทให้แนวทางการจัดสรรมาว่า จะให้อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะว่ายอดการสั่งซื้อของไทยอยู่ประมาณสัดส่วน 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมด

 

 

“ดังนั้น เขาจะจัดส่งวัคซีนให้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา เพราะการผลิตวัคซีนไม่ได้มีจำนวนโดสที่แน่นอนหรือตายตัวในแต่ละช่วงเวลา  มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นจึงเป็นข้อตกลงกันในเรื่องของสัดส่วนที่จะอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา” นพ.นคร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง