รีเซต

การรอคอย ไม่ทำให้หมดหวัง เพราะ 'เสาหลักครอบครัว' มีหน้าที่ต้องเดินต่อ

การรอคอย ไม่ทำให้หมดหวัง เพราะ 'เสาหลักครอบครัว' มีหน้าที่ต้องเดินต่อ
มติชน
24 เมษายน 2563 ( 10:16 )
180
2

 

บนฟากฝั่งของถนน ท่ามกลางแดดร้อนๆ วิถีชีวิตของ “วินมอเตอร์ไซค์” ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดนั้น กำลังประสบกับ “การรอคอย” นานนับชั่วโมง กว่าจะมีลูกค้าผ่านเข้ามา 1 ราย

 

“เมื่อก่อนคนออกมาทำงาน ก็จะมีลูกค้าประจำมาโบกวินทั้งขาไปทำงานและขากลับ แต่ตอนนี้ทุกคนทำงานที่บ้านกันหมด รอมาครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่มีคนเลย”

 

เสียงสะท้อนจาก ทับ เหมยต่อม อายุ 58 ปี วินมอเตอร์ไซค์มากประสบการณ์ ที่ย้ำว่าตลอดการทำงานของเขา

 

วิกฤตการณ์ครั้งนี้ นับว่าส่งผลกระทบ “หนักที่สุด” เท่าที่เคยเจอมา

 

ทับเล่าว่า เขาเดินทางจากบ้านเกิดซึ่งอยู่ต่างจังหวัด เข้ามาขับวินมอเตอร์ไซค์ในเมืองกรุง ต้องเช่าบ้านอยู่ และเลี้ยงดูครอบครัว ภรรยา และลูกอีก 2 คน ซึ่งยังคงว่างงาน

 

“ผมติดตามข่าวนะ แรกๆ เขาก็บอกว่าวินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ไกด์ พวกนี้ เป็นอาชีพแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ควรได้รับการเยียวยา แต่ผมไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5 พันบาท ปรากฏว่าผมไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ได้รับเงิน ระบบโชว์ว่าเพราะผมเป็นเกษตรกร”

 

“ซึ่งในวินที่ผมอยู่ มีวินทั้งหมดประมาณ 30 คน ทุกคนมีใบขับขี่ เป็นวินถูกต้องตามกฎหมาย ได้ป้ายเหลือง มีใบรับรองหมด แต่ว่า 30 คนลงทะเบียน มีวินผ่านได้รับเงินเยียวยา 2 คนเอง” วินมอเตอร์ไซค์รุ่นเก๋าเล่าแกมหัวเราะแห้งๆ ทั้งกล่าวย้ำว่า

 

“ในใจผมก็ร่ำร้องว่าอยากได้ อยากได้เงินเยียวยา จะนำไปจ่ายงวดรถที่เพิ่งถอยมาก่อนมีโควิด จ่ายค่าเช่าบ้าน ซื้อข้าวให้ลูก แต่พอผลออกมาแบบนี้ก็ไม่รู้จะต้องทำยังไงแล้วจริงๆ”

 

ทั้งนี้ นายทับยังเล่าอีกว่า จากรายได้ที่เคยได้วันละ 5-6 ร้อยบาทต่อวัน ตอนนี้เหลือเพียง 1-2 ร้อยบาทเท่านั้น

 

“ก็พอได้ค่าข้าวแล้วก็แกงถุงสองถุงกลับบ้าน” ทับกล่าว และเล่าว่า

 

เมื่อก่อนเขายังพอมีรายได้เสริมจากการรับส่งเอกสารให้กับบริษัทต่างๆ แต่ตอนนี้รายได้ส่วนนี้ก็หายไป เพราะบริษัทมีนโยบายให้เวิร์ก ฟรอม โฮม ฉะนั้นระหว่างที่ขับรถไปส่งลูกค้า เพื่อนวินคนไหนเห็นจุดไหนมีหน่วยงานหรือคนใจดีแจกข้าว ก็จะบอกต่อๆ กันให้ไปรับข้าวกล่อง

 

อย่างไรก็ตาม วินมอเตอร์ไซค์วัย 58 ปี เผยอีกว่า เคยคิดที่จะพาครอบครัวเดินทางกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด แต่ก็ต้องกักตัวอีก 14 วัน หากไปแล้วจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ก็ต้องกักตัวอีก 14 วัน รวมแล้วก็เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนที่เขาจะไม่สามารถหารายได้ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงตัดสินใจดิ้นรนหารายได้ในกรุงเทพฯ ต่อไป

 

“เพราะผมเป็นเสาหลักของบ้าน ทุกอย่างก็อยู่ที่ผมหมดเลย” ทับกล่าวทิ้งท้ายถึงแรงผลักดัน

 

ที่ทำให้เขาต้องสู้ต่อไป

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง