รีเซต

วิชาโควิด 101 รู้ทันโรคกับ “Covid 19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ”

วิชาโควิด 101 รู้ทันโรคกับ “Covid 19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ”
มติชน
9 พฤษภาคม 2563 ( 14:38 )
771
วิชาโควิด 101 รู้ทันโรคกับ “Covid 19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ”

“ต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน”

ไม่ได้พูดถึงคนรัก ไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่กำลังพูดถึง “โควิด 19” ที่อยู่กับเราจนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

ตราบใดที่ยังหาวัคซีนรักษาไม่เจอ ก็คงต้องอยู่กันไปอย่างนี้ โดยที่เราจำเป็นปรับพฤติกรรมทุกอย่างในชีวิตเพื่อสร้างความปกติให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางความไม่ปกติทั้งมวล … ก็ยังมีชีวิตที่ต้องใช้ต่อนี่นะ

เพราะฉะนั้นวิชา โควิด 101 – ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ โควิด -19 ที่ถูกต้องจึงจำเป็นมาก เพราะความรู้ในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง และท่ามกลางกระแสข่าวสารมากมาย มีทั้งข่าวจริง ข่าวลวง ข่าวปั่น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียต่างๆ

“Covid -19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ” โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ คือหนังสือที่เราอยากนำเสนอสุดๆ ในท่ามกลางวิกฤตนี้

เป็นความรู้ ที่นำไปสู่ความจริงของการรับมือและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพมาตั้งแต่ต้น จนจบปริญญาเอกที่ ม.คุมะโมะโตะ ประเทศญี่ปุ่น และมีผลงานทั้งงานเขียนงานแปลออกมามากมาย ในคำนำจากผู้เขียน ดร.นำชัยได้อธิบายว่า การระบาดของโควิด -19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ทั่วโลก และมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับความโกลาหลที่เกิดจากความไม่เข้าใจ  และความไม่พร้อม ซึ่งโรคนี้ไม่ได้ทำให้แค่ป่วยเท่านั้น แต่ยังดิสรัปต์ (Disrupt) วิถีชีวิตคนอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนบอกว่า เกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ความจริงเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันตัวเองและคนรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเรากับโรคน่าจะอยู่ด้วยกันอีกนาน

จุดเด่นที่น่าสนใจของ “Covid 19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ” นอกจากประเด็นความจริงที่นำไปสู่ความรู้แล้ว การแบ่งประเด็นทั้ง 5 ประเด็นที่ดร.นำชัยทำนั้น แทบจะสามารถเขียนเป็นวิชาโควิด 101 ได้เลย เพราะเริ่มตั้งแต่ จุดเริ่มต้น การรุกคืบ ผลกระทบ การรับมือ และแหล่งข้อมูลสำคัญที่ควรติดตาม คือมีทั้งมุมมองหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์อยู่ในเล่มเดียวกัน

จริงๆ แล้วไวรัสโคโรนาถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในตอนนี้ เป็นสายพันธุ์ที่ 7 ซึ่งยังไม่เคยพบมาก่อน จึงถูกเรียกว่าเป็น ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ และในภายหลังถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า โควิด-19 (COVID-19) นั่นเอง

ทุกประเด็นน่าสนใจทั้งสิ้น เพราะถ้าเราไม่รู้จักเหตุ เราก็จะไม่รู้ว่าควรจะทำยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และผลของสิ่งที่ทำจะเป็นอย่างไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากในสถานการณ์ตอนนี้คือ เรื่องของการรับมือ และแหล่งข้อมูลสำคัญที่ควรติดตาม

ดร.นำชัยเขียนถึงข้อแนะนำการปฏิบัติตน ที่นำมาจากคำถามและข้อสงสัยต่างๆที่พบกันบ่อยๆ โดยอ้างอิงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากคำแนะนขององค์การอนามัยโลก และพิจารณาจากสถานการณ์ในไทย อาทิ

Q : เรื่องอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรทำ

A : การสูบบุหรี่ มีรายงานว่าผู้มีประวัติเป็นนักสูบจะอาการหนักกว่าคนทั่วไป การสวมหน้ากากอนามัยซ้อนกันหลายชั้น การกินยาปฏิชีวนะ

Q : เสี่ยงเพียงใดกับพัสดุจากพื้นที่เสี่ยง

A : ความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ผ่านทางพัสดุหรือข้าวของที่ส่งมาจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยงมีน้อย เพราะการส่งพัสดุเหล่านั้นผ่านขั้นตอนการขนส่ง ซึ่งจะต้องผ่านสภาวะและอุณหภูมิที่หลากหลาย จนมักจะหลงเหลือไวรัสรอดมาน้อยมาก

Q : มียาปฏิชีวนะที่ใช้ป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้บ้างไหม

A : ไม่มีเลยครับ ยาปฏิชีวนะใช้การไม่ได้กับไวรัส ใช้ได้กับการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น

…ยาหรือสิ่งที่อ้างและส่งต่อๆ กันในโซเชียลมีเดียว่า สามารถใช้รักษาโรคนี้ได้ ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ และส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยด้วยซ้ำ ว่าเหมาะสมหรือควรใช้ ซึ่งก็รวมทั้งยาปฏิชีวนะ

การป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ด้วยการล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างให้เหมาะสม รวมไปถึงการสวมกน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี จึงมีความสำคัญมาก

มี “Covid 19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ” เล่มเดียว ที่มาครบทั้งข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ก็สามารถเอาชนะเฟค นิวส์ ข้อมูลผิดๆ ที่ส่งต่อกันมาในกรุ๊ปไลน์ กรุ๊ปแชท เว็บไซต์ตีหัวเข้าบ้าน ทั้งหลายทั้งปวงได้เลย

เป็นเล่มที่ควรเก็บไว้เป็น “หนังสือสามัญประจำบ้าน” ในวันที่เรายังต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปอีกนาน

…..

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง