รีเซต

"โล่แห่งเยอรมนี" เมืองเบียร์เล็งยกระดับระบบป้องกันขีปนาวุธแบบใหม่

"โล่แห่งเยอรมนี" เมืองเบียร์เล็งยกระดับระบบป้องกันขีปนาวุธแบบใหม่
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2565 ( 14:57 )
73
"โล่แห่งเยอรมนี" เมืองเบียร์เล็งยกระดับระบบป้องกันขีปนาวุธแบบใหม่


โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประกาศว่าเยอรมนีตัดสินใจลงทุนสร้างการป้องกันทางอากาศ ซึ่งระบบดังกล่าว มีชื่อโครงการว่า "โล่แห่งเยอรมนี" (German Shield) 


โครงการดังกล่าวจะนำเข้าระบบป้องกันภัยขีปนาวุธจากต่างประเทศ นำมาออกแบบเป็นระบบสถาปัตยกรรมป้องกันภัยทางอากาศชนิดใหม่ ที่จะช่วยป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธได้ในทุกย่านความสูง และรวมถึงสกัดกั้นขีปนาวุธได้จากทุกระยะ ทั้งใกล้ กลาง และไกล เนื่องจากเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของเยอรมนีกังวลว่า รัสเซียอาจใช้ขีปนาวุธ อิสกันเดอร์ (Iskander) ยิงเข้ามาจากในพื้นที่เขตคาลินินกราด (Kaliningrad) ซึ่งหากใช้ขีปนาวุธชนิดนี้จากบริเวณดังกล่าว รัสเซียจะสามารถโจมตีเมืองต่าง ๆ ในยุโรป รวมทั้งเบอร์ลินได้ในเวลาไม่กี่นาที ความกังวลนี้ทำให้โครงการโล่แห่งเยอรมนี (German Shield Initiative) กำเนิดขึ้น 


ที่มาของรูปภาพ Israel Military 


โดยเมื่อต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศเยอรมันเริ่มมองหาระบบป้องกันภัยจากต่างชาติมาใช้งานและประยุกต์เข้าในรูปแบบเฉพาะตัวกับระบบของเยอรมนี ซึ่งตัวเลือกหลัก ๆ จะประกอบไปด้วยระบบ Arrow-3 และ Iron Dome ของอิสราเอล ที่ถูกนับว่าเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ ขณะที่มีรายงานว่าเยอรมนีสนใจระบบป้องกันภัยทางอากาศระดับสูง (Terminal High Altitude Air Defense - THAAD) ของสหรัฐฯ อีกด้วยเช่นกัน แต่มีโอกาสน้อยกว่าตัวเลือกแรกจากอิสราเอล 


ทั้งนี้ ปัจจุบัน เยอรมนีมีระบบ Patriot ซึ่งเป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธระดับสูงจากสหรัฐฯ ที่มีประวัติในการต่อต้านขีปนาวุธระยะใกล้มาอย่างโชกโชน แต่หากมีการซื้อระบบ Arrow หรือ Iron Dome มาเสริม พร้อมกับการนำไปปรับปรุงภายใต้โครงการโล่แห่งเยอรมนี ก็จะยิ่งยกระดับการป้องกันขีปนาวุธของเยอรมนีให้มีประสิทธิภาพสูงสุด




อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าเยอรมนีจะเลือกใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศเพียงระบบเดียวหรือทั้งระบบ Arrow 3 และ Iron Dome  แต่มีการระบุว่า เยอรมนีระบบดังกล่าวจะใช้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการขีปนาวุธพื้นผิวสู่อากาศ (Surface to Air Missile Operations Center - SAMOC) ของแอร์บัส (Airbus) ซึ่งเป็นระบบการจัดการป้องกันภัยทางอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ สร้างขึ้นมาเพื่อทำภารกิจแบบบูรณาการ ทั้งจากคำสั่งระดับชาติ นาโต (NATO) หรือสหภาพยุโรป ซึ่งหมายความว่าระบบดังกล่าวจะสามารถประยุกต์ใช้เข้ากับระบบของกองทัพกลุ่มประเทศเครือสหภาพยุโรปได้ ทั้งนี้ เยอรมนียืนยันว่า เยอรมนีจะให้ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปใช้ประโยชน์จากระบบป้องกันอาวุธชนิดใหม่ได้ด้วย


สำหรับระบบศูนย์ปฏิบัติการขีปนาวุธพื้นผิวสู่อากาศ (SAMOC) มีขั้นตอนการทำงานคือ ระบบดังกล่าวจะช่วยในการวางแผนจัดการภัยคุกคามทางอากาศขั้นสูง การจัดการมัลติดาต้าลิงค์ หรือการเชื่อมต่อข้อมูลแบบหลากหลายรูปแบบ การประมวลผลข้อมูล และเทคโนโลยีการแสดงผลตามข้อมูลกายภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อระหว่างระบบเซ็นเซอร์และอาวุธเข้าด้วยกัน 


สำหรับประเทศต้นตำรับระบบป้องกันภัย เช่นสหรัฐอเมริกา มีระบบป้องกันขีปนาวุธโดยเฉพาะ ระบบดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันทั้งประเทศจากขีปนาวุธต่าง ๆ เช่นขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBMs) และขีปนาวุธประเภทอื่น ๆ ระบบดังกล่าวประกอบไปด้วยเครื่องสกัดกั้นภาคพื้นดิน จรวดต่อต้านขีปนาวุธ ระบบจรวดสกัดกั้นทางทะเล อวกาศ หรือเลเซอร์  อย่างไรก็ตาม เยอรมนีอ้างว่า ระบบการป้องกันภัยทางอากาศแบบใหม่ของเยอรมนีจะไม่เหมือนระบบป้องกันภัยที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ แต่เยอรมนียืนยันว่า พวกเขาจะสร้างระบบอาวุธแบบใหม่ ที่สามารถครอบคลุมการป้องกันภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ


ระบบศูนย์ปฏิบัติการขีปนาวุธพื้นผิวสู่อากาศ หรือ SAMOC ถูกนำไปใช้โดยกลุ่มประเทศนาโตอย่างกว้างขวาง และช่วยให้นาโต ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ตามการเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีและการประมวลผลข้อความทางการทหาร และแอร์บัสยังแจ้งช้อมูลว่า ระบบ SAMOC สามารถรวมการทำงานจากประเทศนอกเหนือกลุ่มนาโตได้อีกด้วย เช่น ซาอุดีอาระเบีย และฮังการี

 

ที่มาของข้อมูล eurasiantimes.com

ที่มาของรูปภาพ Israel Military


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง