รีเซต

วารินชำราบโมเดล ใช้กลไก พชอ.พัฒนาคุณภาพชีวิต-ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ผล

วารินชำราบโมเดล ใช้กลไก พชอ.พัฒนาคุณภาพชีวิต-ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ผล
มติชน
7 ตุลาคม 2563 ( 13:47 )
79
วารินชำราบโมเดล ใช้กลไก พชอ.พัฒนาคุณภาพชีวิต-ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ผล

 

วันนี้ (7 ตุลาคม 2563) ที่โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ฯ จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้มี นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด นายวิริยา ธรรมเรืองทอง ที่ปรึกษาสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด เครือข่ายสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วม

 

 

นายสฤษดิ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยนโยบายศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) มุ่งป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ จากศูนย์ข้อมูลอุบติเหตุ Thai RSC ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ในส่วนของจ.อุบลราชธานี มีสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 5 ตุลาคม 2563 มีผู้บาดเจ็บ 19,620 ราย เสียชีวิต 241 ราย ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ขับเคลื่อนแผนงานต่อโดยเน้นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง ติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลง

 

ด้านนายพรหมมินทร์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนมีให้เห็นทุกวัน คร่าชีวิตคนไทยวันละ 35-50 คนต่อวัน หรือมากกว่า 24,000 คนต่อปี พิการปีละกว่า 5,000 คน สร้างความสูญเสียมหาศาล ปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ รถ คน ถนน และสิ่งแวดล้อม ที่ไม่พร้อมส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงอย่างไม่คาดคิด ดังนั้น การสร้างกระแสรับรู้และความตระหนักในการขับขี่ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยอาศัยศักยภาพของสื่อมวลชน และเครือข่ายช่วยจึงสำคัญที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง มีพลังและรวดเร็ว

 

นายธานินทร์ ไชยานุกูล สาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การทำงานในรูปแบบ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอเป็นประธาน มีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนทำงาน จัดเวทีประชาคม รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาและพบมีปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น อุบัติเหตุการจราจรสูง มีปัญหายาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลพบมีผู้เสียชีวิต 43 กรณี ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ย 3,555 ราย มีอัตราตายมากกว่า 18 ต่อแสนประชากร ประชาชนไม่เคารพกฎหมาย ขับเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ สภาพถนนแคบชำรุด มีโค้งไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งวิธีจัดการเน้นถ่ายทอดนโยบายลงสู่ ศปถ.อปท. บังคับใช้กฎหมายในกลุ่มเด็กวัยเรียน มีมาตรการองค์กรและมาตรการชุมชนที่ชัดเจน เพิ่มบทบาทผู้นำชุมชนแก้ไขปัญหาเองได้ พร้อมสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนในระดับหมู่บ้าน พร้อมกำหนดแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ปี 2564 ตั้งเป้าอัตราตายจากอุบัติเหตุทางถนนของอำเภอวารินชำราบต้องลดลง

 

 

นายธีรวัฒน์ พิมพ์ชาย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า สภาพพื้นที่มีถนนเป็นเส้นทางหลักระหว่างอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ ทำให้ช่วงเทศกาลหยุดยาวมีปริมาณรถจำนวนมากและถนนเป็นทางตรงยาว ทำให้รถวิ่งเร็ว นอกจากนี้ ยังมีจุดเสี่ยงในเขตชุมชนที่เป็นทางร่วม ทางแยก มียูเทิร์นแต่ไม่มีเกาะกลาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยปี 2556 – 2558 ช่วงเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 6 ราย จึงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา วิเคราะห์ ค้นหาจุดเสี่ยง และลงศึกษาพื้นที่จริงเพื่อวางแผนแก้ไข ดำเนินการตั้งด่านชุมชนครอบคลุมพื้นที่ จัดทำป้ายเตือนก่อนถึงจุดเสี่ยง มีหมวกกันน็อกให้ยืมก่อนขึ้นถนนใหญ่ ผลที่ได้คือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559-2562 ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง