รีเซต

โควิด-19 : นักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือเพิ่ม มีเที่ยวบินมารับ แต่ไม่มีเงินซื้อตั๋ว

โควิด-19 : นักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือเพิ่ม มีเที่ยวบินมารับ แต่ไม่มีเงินซื้อตั๋ว
บีบีซี ไทย
1 พฤษภาคม 2563 ( 09:53 )
128
โควิด-19 : นักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือเพิ่ม มีเที่ยวบินมารับ แต่ไม่มีเงินซื้อตั๋ว

เงิน 300 บาท และข้าวสารอาหารแห้งหนึ่งชุด คือความช่วยเหลือเดียวที่ อัซฮาน หะยีสาและ นักศึกษาไทยในยอกยาการ์ตา ได้จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อต้นเดือน เม.ย.

ทั้งไทยและอินโดนีเซียต่างก็สั่งปิดประเทศเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 นี่ทำให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีวัย 20 ปี จากยะลาผู้นี้ ติดอยู่ต่างแดนนานราว 2 เดือนแล้ว พร้อมกับคนไทยที่อีกราวร้อยชีวิตในเมือง

"นักศึกษาที่นี่ฐานะจะไม่ได้รวยอะไรมาก ก่อนที่จะปิดประเทศ ตั๋วเครื่องบินมันพุ่งกระฉูดทำให้คนที่ไม่ค่อยมีปัญญาเรื่องตังค์กลับไม่ได้ ผมก็คือหนึ่งในนั้น ปกติไป-กลับราคาอยู่ที่สามพัน แต่ราคามันขึ้นไปที่หมื่น" อัซฮานกล่าว

ด้านนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับบีบีซีไทยวันนี้ (1 พ.ค.) ว่าคนไทยที่ไม่มีเงินค่าตั๋วเครื่องบิน สามารถติดต่อสถานทูตเพื่อขอยืมเงินก่อนได้

ทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ให้สัมภาษณ์นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโสทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ว่า คนไทยที่ติดค้างอยู่ในอินโดนีเซียอยู่ขณะนี้มีราว 2,500 คน เป็นนักศึกษาราว 1,700 คน ใน 38 เมืองทั่วอินโดนีเซีย

เขากล่าวว่าได้เร่งส่งความช่วยเหลือ รวมถึงเงินไปยังคนไทยใน 38 เมืองแล้ว แต่ก็กังวลว่าปัญหาจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นหลังทางการอินโดนีเซียเพิ่งมีคำสั่งปิดการคมนาคมระหว่างเมืองแล้วด้วย

อัซฮานบอกว่า นักศึกษาหลายคนรวมถึงเขา ซึ่งได้ทุนเล่าเรียนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ลงทะเบียนแจ้งความจำนงขอกลับประเทศไปหลายครั้งแต่ยังไม่มีการตอบกลับ สำหรับเที่ยวบินพิเศษที่รัฐช่วยประสานให้นั้น คนไทยที่ติดค้างอยู่ต่างประเทศต้องจ่ายเงินค่าตั๋วเดินเอง ซึ่งอัซฮานบอกว่าเขาและเพื่อนหลายคนไม่มีเงิน

ประกาศของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อคืนนี้ (30 เม.ย.) ระบุว่า ในการลงทะเบียนขอกลับเที่ยวบินพิเศษ "ผู้เดินทางจะต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเอง" และ "ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดลำดับความเดือดร้อน/เร่งด่วนตามแนวทางช่วยเหลือคนไทย"

สถานทูตพร้อมให้ยืมเงินซืัอตั๋วเครื่องบิน

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ให้การดูแลนักศึกษาไทย 1,725 คนใน 38 เมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยมีการตั้งกลุ่มไลน์นักศึกษาในเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางการประสานติดต่อกันได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากช่องทางเฟซบุ๊กและเบอร์โทรฉุกเฉิน และเมื่อปลายเดือนมีนาคม ได้ส่งความช่วยเหลือไปให้นักศึกษาไทยทั้ง 38 เมือง รวมถึงนักศึกษาในเมืองยอกยาการ์ตา เพื่อให้จัดหาอาหารแห้ง น้ำดื่ม และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งได้ส่งหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 1,600 ชิ้นไปให้ด้วย

ล่าสุดสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับอนุมัติให้จัดเที่ยวบินพิเศษเดินทางออกจากอินโดนีเซียกลับประเทศไทยในวันที่ 17, 23 และ 27 พ.ค. ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้พิจารณาจัดลำดับความจำเป็น ความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้ที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์จะกลับไทยต่อไป

"สำหรับกรณีคนไทยที่ไม่มีเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ขอให้ติดต่อสถานทูตเพื่อขอยืมเงินได้ก่อน" นายเชิดเกียรติกล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมกับแนะนำให้สอบถามรายละเอียดจากสถานทูตซึ่งพร้อมให้คำแนะนำเป็นแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ

https://www.facebook.com/rtejakarta/photos/rpp.527380854080521/1691670050984923/?type=3&theater

 

ลำดับความเดือดร้อน

นักศึกษาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่สถานทูตรวมเอาไว้ "แนวทางการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศของหน่วยราชการไทย" พร้อมกับ ผู้เจ็บป่วย นักท่องเที่ยวที่ตกค้าง ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และคนตกงาน

อัซฮาน บอกว่าเรื่องที่กังวลในตอนนี้คือจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอินโดนีเซียที่เยอะขึ้นเรื่อย ๆ โดยล่าสุดอยู่ที่กว่า 1 หมื่นรายจากข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ของสหรัฐฯ

อัซฮานบอกว่า แม้จะมีมาตรการเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน แต่ในช่วงกลางวัน ผู้คนก็ยังไปไหนมาไหนกันอย่างพลุกพล่าน ทำให้เขาและเพื่อนกังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หากต้องอยู่ที่นี่ต่อไปนาน ๆ

ก่อนหน้านี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ว่ามีคนไทยแจ้งความประสงค์ขอเดินทางเข้าประเทศอย่างน้อย 8,998 คนในเดือน พ.ค. นี้

ผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยต้องมีเอกสารครบตามเดิมคือ ใบรับรองแพทย์ว่าเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit-to-fly) และเอกสารรับรองจากสถานทูตในประเทศต้นทาง โดย ศบค. แจ้งว่าผู้แจ้งความประสงค์ขอกลับบ้านกระจายตัวอยู่ใน 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย, ญี่ปุ่น, ซาอุดิอาราเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, เมียนมา, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา และ มัลดีฟส์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง