รีเซต

เปิด 3 เทรนด์!! ทางรอดธุรกิจใน "New Normal"

เปิด 3 เทรนด์!! ทางรอดธุรกิจใน "New Normal"
TNN ช่อง16
10 มิถุนายน 2563 ( 13:04 )
1.7K

 

ทุกวันนี้ประชาชนเริ่มปรับตัวเข้าสู่วิถีปกติใหม่หรือ New Normal นิยามที่ทุกคนคุ้นหูกันมากขึ้น  จะได้ว่าสังคมค่อยปรับไปตามภาวะ สถานการณ์โลกปัจจุบัน แต่ที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันชัดเจนมากขึ้น ก็อาจจะเริ่มตั้งแต่การที่โลกเรามีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา - 2019 หรือโควิด-19 ที่การแพร่ระบาดลุกลามไปเกือบทั่วโลก การใช้ชีวิตปกติในวันนี้จึงเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน 

 

เมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศไทยเราเองเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ตัวเลขคนติดเชื้อลดลงมาก บรรดามาตรการพิเศษต่างๆของรัฐบาลที่ทยอยออกมาก่อนหน้านั้นก็ค่อยๆผ่อนคลายลง โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจประชาชนคลายความตึงเครียดลงบ้าง การดำเนินกิจกกรรมทางธุรกิจก็กลับมา และสิ่งที่ติดสอยห้อยตามนั่นก็คือการปรับรูปแบบธุรกิจ การให้บริการ การใช้บริการที่ต่างไปจากเดิมเล็กน้อย เพราะจะต้องมีมาตรการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ต่างๆ 

 

 

เศรษฐกิจไทยอาจใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ในการกลับมาสู่จุดเดิม

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS)  ได้ประเมินผลกระทบของเศรษฐกิจไทยจากพิษโควิด-19 ว่าปีนี้หดตัว 8.8%  และหากโควิด-19 กลับมาระบาดในระลอก 2  ทำให้ต้องปิดเมืองอีกครั้ง  คาดว่า GDP จะหดตัวรุนแรงถึง 12%  โดยในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยหดตัวอย่างหนักจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการปิดเมือง จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยลดลง 60%  และยอดจองที่อยู่อาศัยลดลงจาก 36% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เหลือเพียง 14%  โควิด-19 ยังทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่  New Normal

 


 

และผลการสำรวจ CEO จากบริษัททั่วโลก จำนวนมากเห็นว่าเศรษฐกิจคงกลับมาได้ช้าๆ แบบ U Shape เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น หลังการค้นพบวัคซีน  และคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงในช่วงต้นปี และอาจใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ในการกลับมาสู่จุดเดิม สำหรับปริมาณการค้าโลกนั้น ประเมินว่าในปีนี้ อาจหดตัวถึง 10-30%

 

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบมากในยุค New Normal

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย บอกว่า วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากขึ้น 

 

ขณะที่โควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสทวนโลกาภิวัฒน์ ที่ทั่วโลกต่างหันว่าพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ และใช้มาตรการทางภาษีปกป้องบริษัทในประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบด้านลบกับกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพิงการส่งออกในระดับสูง เช่น ธุรกิจยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ ส่วนอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากใน New Normal คือกลุ่มที่พึ่งพาการก่อหนี้ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจในสองกลุ่มนี้มียอดขายรวมกันถึง 37% ของมูลค่ายอดขายในอุตสาหกรรมไทย 

 

 

New Normal ต้นทุนของการทำธุรกิจจะสูงขึ้น มีโอกาสรอดจาก 3 ทาง

ดร. กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและลงทุนลดลง ธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ใน New Normal ต้นทุนของการทำธุรกิจจะสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจที่จะเติบโตได้ คือธุรกิจที่สามารถหาโอกาสได้จาก “GDH” ได้แก่

 

        1. การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (G) ที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ผ่านการยกระดับสาธารณะสุข การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 

 

 

        2. การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีของผู้บริโภค (D) หัวใจของการดำเนินธุรกิจ  จะให้เห็นภาพก็อย่างเช่น การที่ผู้บริโภคหันมาใช้ธนาคารดิจิทัลมากขึ้น การจ่ายเงินด้วยอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง หรือโมบายล์แบงกิ้ง  เป็นต้น 



        และ 3. กระแสด้านสุขภาพ (H) ซึ่งมีแนวโน้มเป็นพฤติกรรมระยะยาวของผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ การแพทย์ บริการด้านเทคโนโลยี เคมีภัณฑ์ ซึ่งมียอดขายรวมกัน 12% ของมูลค่ายอดขายในอุตสาหกรรมไทย



ความท้าทายใน New Normal เพิ่งเริ่มต้น!!

นายณัฐพร ศรีทอง ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า ขณะนี้แม้ในมุมการแพร่ระบาดของโรคได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว แต่ในมุมความท้าทายด้านเศรษฐกิจและธุรกิจใน New Normal ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นธุรกิจควรเริ่มปรับตัว โดย กระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ให้ความสำคัญกับลดต้นทุน ยกระดับการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยี และที่สำคัญคือต้องปรับกลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับเทรนด์ “GDH”  ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจและเม็ดเงินของผู้บริโภค

 

ถ้านึกภาพไม่ออก ก็ยกตัวอย่างธุรกิจเกษตรที่ควรใช้โอกาสนี้ ในการก้าวไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงใน New Normal เช่น ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์และสุขอนามัย การผลิตยาหรืออาหารเสริมจากพืช (Biopharmaceutical)  และการผลิตเครื่องสำอางชีวภาพ (Biocosmetics) เป็นต้น

        

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง