แพทย์เผยประสบการณ์รักษาเด็ก 5 วันติด 'โควิด' วิกฤตเกือบ 1 สัปดาห์ ปอดบวม-หายดี
กรมการแพทย์ทำแผนประคองกิจการ รพ. วางมาตรการนิวนอร์มัล รองรับโรคอุบัติใหม่ ขยาย รพ. 12 เขตสุขภาพ เผยเคสเด็ก 5 วันติดโควิด มีปอดบวม รักษาจนหายดี
วันที่ 1 เม.ย.64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก กรมการแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันเตรียมพร้อมทั้งการควบคุมการระบาด และรักษาผู้ป่วยโควิด มีการเตรียมเตียงรองรับ จะเห็นว่าเตียงใน กทม.ไม่เคยขาด แต่การระบาดระลอกใหม่จะแตกต่าง เพราะไม่ได้เกิดใน กทม. แต่เกิดที่ จ.สมุทรสาคร จึงเปลี่ยนกลยุทธ์เล็กน้อย และไปตั้ง รพ.สนาม แต่หากมีเคสรุนแรงเกินรับให้ส่งต่อมายัง รพ.ใน กทม. ทั้งเครือข่ายกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และกทม.ช่วยกันรับ ทำให้เตียงผู้ป่วยในสมุทรสาครไม่มีปัญหา
“ที่ผ่านมาได้มีการรักษาผู้ป่วยโควิด 2 เคส คือ แม่ติดโควิดและท้องแก่ ร.พ.สมุทรสาคร เป็นห่วงและมีการผ่าคลอดที่ ร.พ.ราชวิถี โดยผ่าคลอดที่ห้องความดันลบ เด็กทารกได้ส่งต่อไปยังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ ร.พ.เด็ก สรุปคือ แม่ปลอดภัย และลูกไม่ติดเชื้อ อีกกรณีเป็นเด็กอายุ 5 วัน มีปอดบวม อาการไม่ค่อยดี ส่งต่อมาจาก ร.พ.สมุทรสาคร มาที่ ร.พ.เด็ก มีคณะแพทย์มาช่วยดูแล 14 วัน จนเด็กปลอดภัยพ้นวิกฤต" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เราไม่ได้ดูแลแค่คนไทย เราดูแลทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย อย่างกรณีแม่ที่คลอดเด็กปลอดภัย เป็นชาวพม่า ยังมีกรณีอื่นๆ อีกมากที่เราดูแล ไม่ใช่แค่กรมการแพทย์ ยังมีรพ.สังกัดต่างๆ ทั้งโรงเรียนแพทย์ กทม.ช่วยกันดูแล ส่วนหนึ่งที่เราควบคุมโรคได้ คือ เรานำคนไข้ทุกคนเข้า รพ. และรักษาได้ทันท่วงที
เมื่อถามถึงทิศทางในอนาคตท่ามกลางโควิด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รมว.สธ.ให้นโยบายว่า เราต้องวางแผนก่อน 2-3 ก้าว ซึ่งช่วงที่ไม่มีระบาดหลัง มิ.ย.63 กรมฯ ได้เตรียมเรื่อง New Normal ห้องความดันลบ ทั้ง ER ทันตกรรม เมื่อมีการระบาดใหม่จึงไม่หยุดให้บริการ เพราะเตรียมล่วงหน้า และมีแผนประคองกิจการในช่วงมีการระบาด ซึ่งในอนาคตอาจมีโรคอุบัติใหม่มาอีกก็ได้ สถานบริการยิ่งต้องเตรียมการมากกว่านี้ จึงต้องมีแผนประคองกิจการรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งปัจจุบันเรามี NewNormal 13 ด้าน ทั้งห้องผ่าตัด ห้อง ER ห้องโอพีดี ห้องทำฟัน ห้องคลอด ห้องกายภาพบำบัดฟื้นฟู ฯลฯ เพื่อเตรียมรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ ซึ่ง รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ 31 แห่งพร้อมหมดแล้ว และขยายไปยังโรงพยาบาลใน 12 เขตสุขภาพ
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กทารก 5 วันติดโควิด เนื่องจากเด็กมีขนาดตัวเล็กและมีน้ำหนักน้อย การรักษานั้น รพ.ได้เตรียมแพทย์เชี่ยวชาญทารกแรกเกิดที่มีประสบการณ์ทำหน้าที่รักษา ส่วนสถานที่เรามีความพร้อม ทั้งห้องความดันลบ และมีตู้อบพิเศษ อย่างไรก็ตาม เคสนี้พบว่า เด็กมีภาวะปอดบวมร่วมกับการติดเชื้อก่อโรคโควิด จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดความรุนแรงการติดเชื้อในปอด โดยเด็กวิกฤตประมาณ 5 วันจนถึง 1 สัปดาห์ มีไข้สูง ก็ให้ยารักษาจนไข้ลด เด็กอยู่ รพ.ประมาณ 14 วัน ก่อนจะกลับบ้านได้ต้องมั่นใจว่าเด็กปลอดภัย และตรวจเชื้อว่าไม่มีเชื้อแล้ว เพื่อให้เกิดความสบายใจไม่ให้มีการแพร่เชื้อ
ผศ.นพ.ศุภวัชร บุญกษิดิ์เดช กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า การดูแลรักษาเด็กที่เกิดมา 5 วัน ถือเป็นเคสที่ค่อนข้างอาการหนัก เนื่องจากมีการติดเชื้อก่อโรคโควิดแล้ว ยังมีอาการปอดบวมร่วม ถือว่าเป็นผู้ป่วยโควิดเคสแรกที่อายุน้อยที่สุดของไทยตั้งแต่มีการระบาดของโควิด ขณะที่ต่างประเทศอาจพบเช่นกัน แต่ยังไม่เคยเห็นรายงานเรื่องนี้
ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าติดจากแม่ผ่านสายรก ผศ.นพ.ศุภวัชร กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ชัดเจน แต่กรณีทารกมีภาวะปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรีย กรณีนี้ไม่น่าจะติดจากแม่สู่ลูก แต่อาจมาจากปัจจัยอื่นๆ แต่โดยภาพรวมแล้วศักยภาพของ รพ.สามารถรักษาเด็กทารกน้อยผู้นี้ได้อย่างปลอดภัย โดยรวมแล้วอยู่ใน รพ. ตั้งแต่สมุทรสาคร และส่งต่อมายัง ร.พ.เด็กประมาณ 20 วัน จึงกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย