บล.เคทีบีผนึกพาร์ทเนอร์ ตั้งกองทรัสต์"เดสแคปวัน"
ทันหุ้น –สู้โควิด:บล.เคทีบี ผนึก Destination ตั้งกองไพรเวท อิควิตี้ "เดสแคป วัน" อายุไม่เกิน 7 ปี มูลค่ากองราว 2.5 พันล้านบาท เสนอขายรายใหญ่-สถาบัน ระดมทุนซื้อกิจการโรงแรม หวังสร้างผลตอบแทน 15% ต่อปี คาดเปิดเสนอขายช่วงพฤศจิกายนนี้
นายฐิติพัฒน์ ทวีสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Corporate Finance Solutions & REIT บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST SEC เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการลงนามความร่วมมือกับทางบริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท เดซติเนชั่น กรุ๊ป จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการโรงแรม ผ่านทางกองทุนธุรกิจร่วมลงทุนต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อกิจการร่วมลงทุน (Private Equity Trust) ภายใต้ชื่อ "เดสแคป วัน" ซึ่งมีอายุกองทุนสูงสุดไม่เกิน 7 ปี เสนอขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ และสถาบัน หวังระดมทุนนำที่ได้ไปใช้ลงทุนซื้อกิจการโรงแรมในประเทศ
ร่วมมือปั้นกองทรัสต์
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวทาง KTBST SEC จะทำหน้าที่เป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดการกองทรัสต์ดังกล่าว และมีทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะทรัสตี (Trustee) คาดเปิดขายหน่วยลงทุนได้ในช่วงพฤศจิกายนนี้
โดยกลุ่มเป้าหมายในการระดมเงินทุนให้กับ “ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน” จะเน้นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่จำนวนไม่เกิน 10 ราย เงินลงทุนขั้นต่ำ 200 ล้านบาท ในกรณีที่เงินลงทุนต่ำกว่าขั้นต้น ผู้ลงทุนรายใหญ่สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้
เป้าผลตอบแทน15%
สำหรับทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน มีขนาดสินทรัพย์เป้าหมายในการระดมทุนอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุนประมาณ 5 ปี และสามารถขยายระยะเวลาการลงทุนได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี เพื่อให้สร้างผลตอบแทนสูงสุดกับผู้ถือหน่วยลงทุน ในอัตราผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 15% ต่อปี
ทั้งนี้ กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน เดสแคป วัน จะการเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์โรงแรม ที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ในราคาที่ต่ำ โดยตั้งเป้าเข้าซื้อในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ในภาวะปกติ เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ด้วยกลยุทธ์และประสบการณ์ของ บริษัท เดซติเนชั่น แคปปิตอล พีทีอี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารสินทรัพย์ ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วด้วยวิธีการปรับปรุงสินทรัพย์และเปลี่ยนภาพลักษณ์ทางการตลาด ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ และมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่สมเหตุผลในอัตราคาดหวังที่ไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย
ขณะที่กลยุทธ์ของกองทุนดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ด้าน ส่วนแรก คือ กลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเน้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ติดชายหาดหรือแนวใกล้ชายหาด เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย
โดยในส่วนของกรุงเทพฯ มุ่งเน้นไปที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ มุ่งเน้นการซื้อกิจการโรงแรม ระดับ 4-6 ดาว จำนวนไม่เกิน 8 แห่ง มูลค่าการเข้าซื้อต่อโรงแรมประมาณ 600 – 1,500 ล้านบาท และมีจำนวนห้องพักประมาณ 150 - 250 ห้อง ที่ผ่านอนุมัติจากคณะกรรมการลงทุนของกองทรัสต์
ส่วนที่ 2 คือ กลยุทธ์การสร้างมูลค่า โดยสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนจะมีความผันผวนที่ต่ำส่วนที่ 3 คือ กลยุทธ์การขาย ได้แก่ เสนอขายผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นการ Exit ตัวผ่านตลาดหลักทรัพย์ การควบรวม และการซื้อกิจการ คือเป็นการขายหุ้นให้แก่บริษัทหรือผู้ซื้อที่มีศักยภาย หรือขายหุ้นหรือสินทรัพย์ให้นักลงทุน กองทุน หรือทรัสต์รวมถึงการซื้อคืนจากเจ้าของกิจการ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเข้าลงทุนโรงแรม 3 แห่ง แบ่งเป็น โรงแรมที่พัทยา 2 แห่ง ซึ่งแห่งแรกเป็รโรงแรมขนาดห้องพัก 116 ห้อง (คาดราคาที่จะเข้าซื้อในปี 2563 อยู่ที่ 240 ล้านบาท) และประมาณการราคาขายในปี 2568 อยู่ที่ 646 ล้านบาท ส่วนอีก 1แห่งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ขนาดห้องพัก 177 ห้อง (คาดราคาที่จะเข้าซื้อในปี 2563 อยู่ที่ 536 ล้านบาท) และประเมินราคาขายในปี 2568 อยู่ที่ 931 ล้านบาท