รีเซต

รัสเซียเริ่มสร้าง 'กล้องโทรทรรศน์สุริยะ' ใหญ่สุดในยูเรเซีย

รัสเซียเริ่มสร้าง 'กล้องโทรทรรศน์สุริยะ' ใหญ่สุดในยูเรเซีย
Xinhua
6 สิงหาคม 2566 ( 18:39 )
85

วลาดิวอสตอก, 6 ส.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันเสาร์ (5 ส.ค.) สถาบันฟิสิกส์สุริยะ-โลก (Institute of Solar-Terrestrial Physics) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย (RAS) สาขาไซบีเรีย ในสาธารณรัฐบูเรียเตีย หนึ่งในเขตการปกครองรัสเซีย ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์สุริยะ (solar telescope) หรือกล้องโทรทรรศน์ดูดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปยูเรเซีย

กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนและราคาแพงที่สุดของโครงการเนชันแนล เฮลิโอจีโอฟิสิคัล คอมเพล็กซ์ (National Heliogeophysical Complex) โดยจะตั้งประจำการอยู่ที่หอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ ซายัน (Sayan Solar Observatory) สังกัดสถาบันฟิสิกส์ฯ ใกล้กับหมู่บ้านมันดาในบูเรียเตีย โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.6 หมื่นล้านรูเบิล (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2030

วัตถุประสงค์หลักของกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้คือใช้ในการศึกษาธรรมชาติของสนามแม่เหล็กและวัฏจักรกิจกรรมดวงอาทิตย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกในแง่มุมต่างๆ กล้องโทรทรรศน์ฯ จะช่วยให้คณะนักวิทยาศาสตร์ทำการสำรวจโครงสร้างของชั้นบรรยากาศโฟโตสเฟียร์ (photosphere) อันเป็นชั้นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ที่สามารถมองเห็นได้ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งชั้นผิวนี้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและอุปกรณ์สังเกตการณ์ในวงโคจรจะไม่สามารถเข้าถึงได้

ขณะเดียวกัน กล้องโทรทรรศน์ฯ จะสามารถวิเคราะห์สเปกตรัมและรับข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กและการเคลื่อนที่ของสสาร ตลอดจนช่วยศึกษาสาเหตุการเกิดเปลวสุริยะ (solar flare) การพ่นมวลโคโรนา (coronal mass ejection) และปรากฏการณ์อื่นๆ บนดวงอาทิตย์ นอกจากนี้จะยังช่วยแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและการประยุกต์ใช้ในฟิสิกส์สุริยะ (solar physics)

ทั้งนี้ กลไกทางแสงของกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวจะประกอบด้วยกระจก 13 ชิ้น โดยกระจกหลักมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร ทำขึ้นมาจากแอสโตรทอล วัสดุกลาสเซรามิกแบบพิเศษชนิดหนึ่ง โดยความสูงของโครงสร้างกล้องโทรทรรศน์ฯ ทั้งหมดจะอยู่ที่ 42 เมตร และมีน้ำหนักรวม 120 ตัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง