รีเซต

โควิด : ถอดบทเรียนแอฟริกาใต้ เราได้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโอมิครอน

โควิด : ถอดบทเรียนแอฟริกาใต้ เราได้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโอมิครอน
ข่าวสด
17 ธันวาคม 2564 ( 10:45 )
34

แอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกที่ตรวจพบการอุบัติของเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" และจำนวนผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ปรากฏการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้เตือนว่า เชื้อโอมิครอน "กำลังแพร่ระบาดในอัตรารวดเร็วอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในบรรดาเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ"

 

แล้วเราได้เรียนรู้อะไรบ้างแล้ว จากประการณ์ที่แอฟริกาใต้เผชิญ

โอมิครอนทำให้ป่วยรุนแรงน้อยลง?

 

ข้อมูลการเข้ารักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิดในแอฟริกาใต้เผยให้เห็นตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นในทุกจังหวัด

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้าโรงพยาบาลไม่ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยปัจจุบันพบว่า คนไข้โควิดที่ต้องได้รับออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจมีระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสั้นลง

 

Discovery Health ผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายใหญ่ในแอฟริกาใต้ ประเมินว่า คนวัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโอมิครอนในช่วงต้น ๆ ของการระบาด มีแนวโน้มที่ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงที่โควิดระบาดระลอกแรกในประเทศ

 

แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของแอฟริกาใต้ระบุว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าโอมิครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ

BBC

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความแตกต่างระหว่างการระบาดระลอกล่าสุด กับครั้งที่ผ่าน ๆ มา คือ อัตราการฉีดวัคซีน และการเกิดภูมิคุ้นกันตามธรรมชาติของประชากร

 

ถึงแม้จะดูเหมือนว่า การได้รับวัคซีน 2 โดส หรือการติดโควิดมาในครั้งก่อนจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อโอมิครอน แต่ก็ดูเหมือนว่าปัจจัยทั้งสองจะช่วยให้ผู้คนมีอาการป่วยรุนแรงน้อยลง

 

ดร. วิคกี เบลลี นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากโรงพยาบาลคริส ฮานี บารากวานาธ ในนครโจฮันเนสเบิร์ก ระบุว่า อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ต่ำลงอาจเป็นเพราะประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดมากขึ้น

 

เธอกล่าวว่า "ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามันเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยลง"

G

ด้าน WHO เตือนว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าโอมิครอนอาจมีความรุนแรงน้อยลงอาจมีความคลาดเคลื่อนจากจำนวนผู้เข้าโรงพยาบาลจำนวนน้อย และผู้ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นคนอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่จะล้มป่วยหนัก

 

คนกลุ่มนี้อาจเข้าโรงพยาบาลมาด้วยสาเหตุอื่น แต่โรงพยาบาลในแอฟริกาใต้มีนโยบายตรวจคัดกรองโควิดให้ผู้ป่วยทุกคนที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล นี่จึงทำให้ตรวจพบผู้ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรงเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งนี่ช่วยปกป้องพวกเขาจากการล้มป่วยรุนแรง

 

การที่แอฟริกาใต้มีประชากรส่วนใหญ่ในวัยหนุ่มสาว โดยอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 27.6 ปี เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรที่ 40.4 ปีนั้น ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ความรุนแรงจากการระบาดของโอมิครอนไม่เหมือนกับในประเทศอื่น

 

เด็กล้มป่วยจากโอมิครอนมากขึ้น?

รายงานจากโรงพยาบาลในพื้นที่โควิดระบาดรุนแรงในแอฟริกาใต้เผยให้เห็นว่า มีเด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น

 

บางคนชี้ว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าโอมิครอนอาจมีความอันตรายมากกว่าสำหรับคนอายุน้อย

 

ศาสตราจารย์ เฮเลน รีส จากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ ในนครโจฮันเนสเบิร์ก ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากคนจำนวนน้อย และเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ การเก็บข้อมูลนี้ไม่มีการแยกแยะระหว่างเด็กที่เข้าโรงพยาบาลเพราะป่วยเป็นโควิด กับเด็กที่ถูกตรวจพบว่าติดโควิดเพราะเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยอื่น

 

ดร. เบลลี กล่าวกับบีบีซีว่า โรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่มีคนไข้เด็กจำนวนเล็กน้อยที่ล้มป่วยหนักจากโควิด แต่ก็หายป่วยได้ภายในเวลาเพียง 2-3 วัน

 

นอกจากนี้เธอยังชี้ว่า ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ยากจนซึ่งมีเด็กต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโควิดนั้น อาจเป็นเพราะพวกเขามีภาวะขาดสารอาหาร จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอและมีความเสี่ยงจากโควิดมากกว่าเด็กทั่วไป

 

การฉีดวัคซีนมีบทบาทอย่างไรต่อโอมิครอน

แอฟริกาใต้มีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนค่อนข้างต่ำ โดยมีประชากรเพียง 26% ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้จึงไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบได้โดยตรงกับประเทศอื่นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่า แต่หากพิจารณาถึงอัตราประชากรที่มีภูมิคุ้มกันโควิดตามธรรมชาตินั้น แอฟริกาใต้ถือว่ามีอยู่ในระดับที่สูงมาก

 

ดร. มูเก เซอวิก จากมหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูวส์ เชื่อว่า ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคโควิดของผู้ได้รับวัคซีนแล้วจะลดลงอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะล้มป่วยในระยะเวลาที่สั้นลงและปลอดจากเชื้อได้เร็วขึ้น ทำให้โอกาสจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นมีน้อยลง

 

 

อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่า โอมิครอนยังสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แม้ในกลุ่มประชากรที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง

 

ปัจจุบันมีวัคซีนไม่กี่ชนิดที่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อได้อย่างสิ้นเชิง แต่หากพูดถึงเรื่องการป้องกันไม่ให้ล้มป่วยรุนแรงนั้น ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในแง่นี้ แม้กับเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพในระดับเท่าใด

 

การศึกษาขั้นต้นในแอฟริกาใต้พบหลักฐานบ่งชี้ว่า วัคซีนของไฟเซอร์ช่วยป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 70% หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วหลายเดือน และประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 90% หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

แต่แอฟริกาใต้ยังใช้วัคซีนชนิดอื่นด้วย โดยคนจำนวนไม่น้อยได้รับวัคซีนของจอห์นสั

นแอนด์จอห์นสัน ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบว่า วัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพการป้องกันโรคได้ยาวนานเพียงใดในคนกลุ่มต่าง ๆ

.................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง